คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7387/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองพระหลวงพ่อฤาษีลิงดำองค์ใหญ่ทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไปแล้วอ้างว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับยกให้จากบิดาซึ่งเป็นความเท็จ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับทรัพย์ดังกล่าวมาโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก ซึ่งแตกต่างจากความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่โจทก์ฟ้อง กรณีเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่ข้อที่แตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียดคือต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์กับรับของโจรซึ่งมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 336, 336 ทวิ ให้จำเลยทั้งสองคืนทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 128,400 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุกคนละ 4 ปี และให้จำเลยทั้งสองคืนทรัพย์ 19 รายการ หรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 128,400 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปจอดหน้าร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น มีคนร้าย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์นั่งซ้อนท้ายกันมาเทียบข้างรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย แล้วคนร้ายคนหนึ่งกระชากเอากระเป๋าถือของผู้เสียหายซึ่งบรรจุทรัพย์หลายรายการที่แขวนอยู่ที่แฮนด์รถจักรยานยนต์ข้างขวาของผู้เสียหายไป เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองข้อหาร่วมกันวิ่งราวทรัพย์คดีอื่น แล้วแจ้งให้ผู้เสียหายไปดูตัวจำเลยทั้งสอง ผู้เสียหายยืนยันว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่ร่วมกันวิ่งราวทรัพย์ของผู้เสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายคดีนี้จริงหรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณเที่ยงวัน และผู้เสียหายเห็นว่าคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์เป็นผู้ชาย ส่วนคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายเป็นผู้หญิง แต่ผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะคนร้ายขับรถจักรยานยนต์มาจอดเทียบข้างรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย ผู้เสียหายหันไปมองแต่ไม่ได้สนใจ เมื่อคนร้ายดึงกระเป๋าถือทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและผู้เสียหายล้มลงไปด้วย โดยคนร้ายกระทำการรวดเร็วมาก พฤติการณ์แห่งคดีตามคำเบิกความของผู้เสียหายและร้อยตำรวจโทบรรลือชัย เชื่อว่าขณะที่ผู้เสียหายหันไปมองคนร้ายที่ขับรถมาจอดเทียบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย ผู้เสียหายมิได้สังเกตจดจำใบหน้าของคนร้ายทั้งสอง และเมื่อคนร้ายกระชากเอากระเป๋าถือแล้วขับรถหลบหนีไป ผู้เสียหายไม่มีโอกาสเห็นใบหน้าคนร้ายทั้งสอง ผู้เสียหายจึงไม่สามารถแจ้งรูปพรรณใบหน้าคนร้ายแก่ร้อยตำรวจโทบรรลือชัยได้ ผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้ เจ้าพนักงานตำรวจประสานงานให้ผู้เสียหายไปตรวจสอบเนื่องจากคนร้ายที่จับกุมได้แขวนพระ ผู้เสียหายจึงเดินทางไปตลาดเมืองใหม่ ซึ่งเป็นจุดที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมคนร้าย เมื่อไปถึงพบผู้หญิงกับผู้ชาย ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งว่าบุคคลทั้งสองถูกจับในคดีวิ่งราวทรัพย์และสงสัยว่าน่าจะเป็นคนเดียวกับคนร้ายในคดีของผู้เสียหาย ที่ผู้เสียหายเบิกความว่าจำได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายอาจเกิดจากการชี้นำของเจ้าพนักงานตำรวจ ที่ผู้เสียหายเบิกความว่าจำได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายจึงไม่น่าเชื่อถือ แม้ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าพระหลวงพ่อฤาษีลิงดำองค์ใหญ่ที่จำเลยที่ 1 แขวนขณะถูกจับกุมเป็นของผู้เสียหายซึ่งอยู่ในกระเป๋าถือขณะที่ถูกคนร้ายลักไป แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสืบประกอบให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่วิ่งราวทรัพย์ผู้เสียหายในวันเกิดเหตุ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่วิ่งราวทรัพย์ผู้เสียหายคดีนี้ การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองพระหลวงพ่อฤาษีลิงดำองค์ใหญ่ทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไปแล้วอ้างว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับยกให้จากบิดาซึ่งเป็นความเท็จ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับทรัพย์ดังกล่าวมาโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ซึ่งแตกต่างจากความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่โจทก์ฟ้อง กรณีเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่ข้อที่แตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียดคือต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์กับรับของโจรซึ่งมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 และคำขออื่นให้ยก

Share