แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 บัญญัติว่า “การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โสตทัศนวัสดุภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ทั้งนี้ไม่ว่าในส่วนที่เป็นเสียงและหรือภาพ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้ (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว” องค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตามบทบัญญัติมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (3) คือ การกระทำแก่โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ด้วยการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวอันจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงตามมาตรา 28 (3) จะต้องเป็นการกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้อนุญาตให้ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิใช่การกระทำต่อสำเนางานที่เกิดจากการทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม ตามมาตรา 31 (1) เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองนำแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ที่บันทึกภาพและเสียงงานภาพยนตร์ดังกล่าวจำนวน 2 แผ่น อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกให้เช่า เสนอให้เช่าแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แม้ไม่ได้ระบุว่าแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ แต่ก็พอถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี และโจทก์ก็มีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 และ 69 ซึ่งเป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) (6) การบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงเพื่อการค้า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (3)
แผ่นวีซีดีภาพยนตร์ของกลางที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 2 แผ่น เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย มิใช่สิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงไม่อาจสั่งให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ และแผ่นวีซีดีภาพยนตร์จำนวน 2 แผ่น ของกลางดังกล่าวเป็นงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (3) จึงมิใช่สิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันต้องริบตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 61, 69, 75 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้แผ่นวีซีดีภาพยนตร์ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (3) หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 บัญญัติว่า “การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โสตทัศนวัสดุภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ทั้งนี้ไม่ว่าในส่วนที่เป็นเสียงและหรือภาพ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้ (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว” องค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตามบทบัญญัติมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (3) คือ การกระทำแก่โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ด้วยการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้ การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวอันจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงตามมาตรา 28 (3) จะต้องเป็นการกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้อนุญาตให้ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิใช่การกระทำต่อสำเนางานที่เกิดจากการทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม ตามมาตรา 31 (1) เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองนำแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ที่บันทึกภาพและเสียงงานภาพยนตร์ดังกล่าวจำนวน 2 แผ่น อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกให้เช่า เสนอให้เช่าแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แม้ไม่ได้ระบุว่าแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ แต่ก็พอถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี และโจทก์ก็มีคำขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 และ 69 ซึ่งเป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) (6) การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงเพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (3) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้บรรยายมาในคำฟ้องว่าเป็นการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานจึงเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิดเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยคู่ความไม่ติดใจสืบพยานเพิ่มเติมอีก จึงเห็นสมควรวินิจฉัยต่อไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยก่อน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิเคราะห์ถึงความผิดตามฟ้องซึ่งมีโทษจำคุก และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงสภาพความผิดที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำแผ่นวีซีดีภาพยนตร์อันเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกให้เช่าแก่บุคคลทั่วไป แม้จะเป็นสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศจำนวน 2 แผ่น แต่ก็เป็นภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวและผู้เสียหายก็ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการจำหน่ายงานอันมีลิขสิทธิ์มาก่อนแล้ว การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกให้เช่าในคดีนี้จึงเป็นพฤติการณ์แห่งการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่ร้ายแรง เห็นควรลงโทษจำเลยทั้งสองสถานเบา สำหรับที่โจทก์มีคำขอให้แผ่นวีซีดีภาพยนตร์ของกลางที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 2 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ปรากฏว่าแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย มิใช่สิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงไม่อาจสั่งให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ และแผ่นวีซีดีภาพยนตร์จำนวน 2 แผ่น ของกลางดังกล่าวเป็นงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (3) จึงมิใช่สิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันต้องริบตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (3) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้คืนแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ของกลางจำนวน 2 แผ่น แก่เจ้าของ ส่วนคำขอของโจทก์ที่ขอให้แผ่นวีซีดีภาพยนตร์ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และขอให้สั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายนั้น คงให้ยกตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง