คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7365/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องกล่าวว่าโจทก์รับ ร. เข้าทำงานและทำงานในตำแหน่งสุดท้ายผู้จัดการสาขาย่อยลำปาง มีหน้าที่บริหารงานสาขา รับผิดชอบรายรับ รับจ่าย ขายกรมธรรม์ประกันภัยและรับเงินค่าเบี้ยประกันเพื่อนำเข้าบัญชีของโจทก์ ส่วนจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของ ร. ต่อโจทก์ หาก ร. ก่อความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์ จำเลยยอมผูกพันร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยไม่จำกัดจำนวน ระหว่างเดือนมกราคม 2540 ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 ร. ได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัย 1,394,118 บาท แล้วยักยอกเงินดังกล่าวพร้อมกับเงินที่โจทก์โอนมาสาขาย่อยลำปางเพื่อทดรองจ่าย 43,774 บาท รวมเป็นเงิน 1,437,892 บาท จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์นั้น จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับกรณี ร. ผิดสัญญาจ้างแรงงานที่ทำไว้กับโจทก์ซึ่งไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของ ร. จะยกอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาต่อสู้คดีหาได้ไม่และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อผู้ค้ำประกันกฎหมายก็มิได้กำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 1,698,509 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,437,892 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,698,509 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,437,892 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่า นางรุ่งทิพย์เป็นลูกจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการสาขาย่อยลำปาง ในช่วงเกิดเหตุได้ยักยอกเงินโจทก์ 1,437,892 บาท และวินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันสมบูรณ์ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายและถือได้ว่าเป็นการค้ำประกันการทำงานตลอดระยะเวลาที่นางรุ่งทิพย์ทำงานกับโจทก์ไม่ว่าตำแหน่งใดและไม่ว่านางรุ่งทิพย์จะก่อความเสียหายแก่โจทก์เพียงใด จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง และคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นนิติกรรมที่จำเลยมีความประสงค์ค้ำประกันการทำงานของนางรุ่งทิพย์ในตำแหน่งธุรการมิใช่ผู้จัดการ ภายหลังนางรุ่งทิพย์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสาขา โจทก์ต้องทำสัญญาค้ำประกันใหม่โดยเพิ่มวงเงินค้ำประกันเพราะตำแหน่งผู้จัดการเป็นตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูงทุกด้าน โดยโจทก์กำหนดวงเงินค้ำประกันไว้ว่าจะต้องไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท ส่วนตำแหน่งธุรการวงเงินค้ำประกันไม่เกิน 50,000 บาท ดังระเบียบหลักเกณฑ์การค้ำประกันของโจทก์ และตามคำเบิกความของนายไชยนุวัฒน์ นายสมบัติ และนางลิษา นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 5 เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของนางรุ่งทิพย์ในตำแหน่งผู้จัดการ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องกล่าวว่าโจทก์รับนางรุ่งทิพย์เข้าทำงานและทำงานในตำแหน่งสุดท้ายผู้จัดการสาขาย่อยลำปาง มีหน้าที่บริหารงานสาขา รับผิดชอบรายรับ รับจ่าย ขายกรมธรรม์ประกันภัยและรับเงินค่าเบี้ยประกันเพื่อนำเข้าบัญชีของโจทก์ ส่วนจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของนางรุ่งทิพย์ต่อโจทก์ หากนางรุ่งทิพย์ก่อความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์ จำเลยยอมผูกพันร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยไม่จำกัดจำนวน ระหว่างเดือนมกราคม 2540 ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 นางรุ่งทิพย์ได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัย 1,394,118 บาท แล้วยักยอกเงินดังกล่าวพร้อมกับเงินที่โจทก์โอนมาสาขาย่อยลำปางเพื่อทดรองจ่าย 43,774 บาท รวมเป็นเงิน 1,437,892 บาท จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์นั้น จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับกรณีนางรุ่งทิพย์ผิดสัญญาจ้างแรงงานที่ทำไว้กับโจทก์ซึ่งไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของนางรุ่งทิพย์จะยกอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาต่อสู้คดีหาได้ไม่ และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อผู้ค้ำประกันกฎหมายก็มิได้กำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เช่นกัน โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2549 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 จากต้นเงิน 1,437,892 บาท เกินกว่าที่โจทก์ระบุในคำฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจจะแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,437,892 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 5

Share