คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7290/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรพราก น. ผู้เสียหายที่ 2 อายุ 17 ปีเศษ ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจาก ว. ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย กับจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารโดยพูดข่มขู่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งขณะนั้นผู้เสียหายที่ 2 สวมใส่ชุดนักเรียนแต่หนีเรียนไม่เข้าโรงเรียนตามปกติ ว่าหากผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมไปกับจำเลย จำเลยจะนำเรื่องที่ผู้เสียหายที่ 2 หนีเรียนไม่เข้าโรงเรียนตามปกติดังกล่าวไปแจ้งให้ทางโรงเรียนที่ผู้เสียหายที่ 2 ศึกษาอยู่และผู้ปกครองผู้เสียหายที่ 2 ทราบ เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 2 ถูกลงโทษหรือว่ากล่าว เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 เกิดความกลัวตามคำข่มขู่ของจำเลยดังกล่าว และยอมไปกับจำเลย อันเป็นการขู่เข็ญหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม และจำเลยได้กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 โดยใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการจับแขนและดึงตัวผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปสวมกอดเพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 2 ขัดขืน แล้วจำเลยได้หอมที่บริเวณหน้าผากของผู้เสียหายที่ 2 โดยจำเลยมีเจตนาล่วงเกินทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยพรากผู้เสียหายที่ 2 หรือพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารอย่างไร และไม่ได้บรรยายถ้อยคำตาม ป.อ. มาตรา 284 ว่า จำเลยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้ายใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ก็ตาม แต่คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวก็พอเข้าใจได้แล้วว่า จำเลยพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่เต็มใจไปด้วย พาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอมและพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใดแล้ว ทั้งการบรรยายฟ้องก็หาจำต้องเคร่งครัดถึงกับต้องใช้ถ้อยคำในกฎหมายเสมอไปไม่ ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ, 284, 318 แล้ว นอกจากนี้โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ และมาตรา 284 ในข้อเดียวกัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวเพียงกรรมเดียว โจทก์จึงไม่ต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดนั้นว่าเป็นหลายกรรมต่างกัน ทั้ง ป.อ. มาตรา 90 มิใช่กฎหมายซึ่งอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด โจทก์จึงไม่จำต้องอ้างบทบัญญัติดังกล่าวในคำขอท้ายฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 278, 283 ทวิ, 284 และ 318
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 283 ทวิ วรรคแรก, 284 วรรคแรก และ 318 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารโดยขู่เข็ญหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใดโดยผู้นั้นไม่ยินยอม และฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย (ที่ถูก ฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยขู่เข็ญหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด และฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด (ที่ถูก ฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยขู่เข็ญหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 4 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78) ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อ 2 และข้อ 3 ส่วนฎีกาข้อ 4 และข้อ 5 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จึงไม่รับ ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับสรุปได้ความว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาจำเลยและเมื่อฎีกาของจำเลยในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างว่าการจับกุมจำเลยไม่ชอบเพราะขณะจับกุมผู้เสียหายที่ 1 ยังไม่ได้ร้องทุกข์ แม้ทราบว่าจำเลยกระทำความผิดแล้ว ก็ต้องจัดให้ผู้เสียหายที่ 2 ชี้ตัวจำเลยหรือภาพถ่ายจำเลย หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนต้องออกหมายเรียกจำเลยมาพบพนักงานสอบสวนก่อน เมื่อจำเลยมาพบก็แจ้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การไว้ การจับกุมจำเลยจึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและมิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนสอบสวนและหาวิธีการจับกุมผู้กระทำความผิดโดยวิธีล่อซื้อ และเป็นการดำเนินการผิดขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ปฏิบัติ การสอบสวนพยานบุคคลจึงเป็นการสอบสวนที่มิชอบด้วยกฎหมาย การสอบสวนในเรื่องการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นพิรุธ โจทก์มีหน้าที่นำสืบในเรื่องนี้ แต่ข้อนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏรายละเอียดของข้อความและวันเวลาการใช้โทรศัพท์และไม่อาจรับฟังเป็นความจริงได้ ส่วนจำเลยได้นำสืบหักล้างให้เห็นความจริงได้ การสอบสวนของร้อยตำรวจโท น. เกินอำนาจสอบสวนในระดับสารวัตรสอบสวนที่จะทำการสอบสวนต่อไป การเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนเป็นพิรุธ ร้อยตำรวจโท น. ไม่ได้สอบสวนผู้เสียหายทั้งสองและพยานอื่น ๆ ทันทีขณะเกิดเหตุ พันตำรวจโท ว. ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำการสอบสวนต่อจากร้อยตำรวจโท น. ไม่ได้อยู่ร่วมสอบปากคำพยานทุกปาก แต่กลับไปลงชื่อสอบสวนในคำให้การพยาน จึงมีการระบุวันที่สอบสวนและสอบสวนเพิ่มเติมข้อกล่าวหาจำเลยขึ้นในภายหลัง พันตำรวจโท ว. จึงมิใช่พนักงานสอบสวนที่ได้รับฟังจดบันทึกสอบปากคำพยานทุกปาก ร้อยตำรวจโท น. ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไม่ได้เรียกจำเลยไปพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำจำเลยไว้ตั้งแต่แรก แต่กลับเป็นพันตำรวจโท ว. เรียกจำเลยไปพบ เมื่อมีการแจ้งข้อหาพรากและพาผู้เยาว์แก่จำเลย จำเลยให้การปฏิเสธและทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและให้สอบสวนเพิ่มเติม แต่พนักงานสอบสวนกลับนำข้อเท็จจริงในหนังสือดังกล่าวมาแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยเพิ่มเติม การทำสำนวนสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงมีพิรุธ ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยกระทำความผิดและพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยมีความผิดหรือบริสุทธิ์ต้องได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย มิฉะนั้นรับฟังไม่ได้ คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธ จึงเป็นภาระของโจทก์จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ให้เห็นถึงความผิดของจำเลยนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยพยายามจะบิดเบือนให้เป็นข้อกฎหมาย ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยกระทำลักษณะอาการอย่างไรจึงเป็นการพรากผู้เยาว์โดยใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ กระทำความผิดลักษณะอย่างไรเป็นการพาไปเพื่อการอนาจาร และไม่ได้บรรยายถ้อยคำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 ว่าจำเลยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ฟ้องโจทก์ขัดกันเพราะนำข้อความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 ที่ว่าโดยปราศจากเหตุอันสมควร มาบรรยายฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ และมาตรา 284 โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดหลายกรรมแต่ละกรรมให้ชัดเจน และโจทก์ไม่อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรพราก น. ผู้เสียหายที่ 2 อายุ 17 ปีเศษ ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากนาง ว. ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย กับจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารโดยพูดข่มขู่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งขณะนั้นผู้เสียหายที่ 2 สวมใส่ชุดนักเรียนแต่หนีเรียนไม่เข้าโรงเรียนตามปกติ ว่าหากผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมไปกับจำเลย จำเลยจะนำเรื่องที่ผู้เสียหายที่ 2 หนีเรียนไม่เข้าโรงเรียนตามปกติดังกล่าวไปแจ้งให้ทางโรงเรียนที่ผู้เสียหายที่ 2 ศึกษาอยู่และผู้ปกครองผู้เสียหายที่ 2 ทราบ เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 2 ถูกลงโทษหรือว่ากล่าว เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 เกิดความกลัวตามคำข่มขู่ของจำเลยดังกล่าว และยอมไปกับจำเลย อันเป็นการขู่เข็ญหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม และจำเลยได้กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 โดยใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการจับแขนและดึงตัวผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปสวมกอดเพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 2 ขัดขืน แล้วจำเลยได้หอมที่บริเวณหน้าผากของผู้เสียหายที่ 2 โดยจำเลยมีเจตนาล่วงเกินทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยพรากผู้เสียหายที่ 2 หรือพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารอย่างไร และไม่ได้บรรยายถ้อยคำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 ว่า จำเลยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้ายใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ก็ตาม แต่คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวก็พอเข้าใจได้แล้วว่า จำเลยพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่เต็มใจไปด้วย พาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอมและพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใดแล้ว ทั้งการบรรยายฟ้องก็หาจำต้องเคร่งครัดถึงกับต้องใช้ถ้อยคำในกฎหมายเสมอไปไม่ ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ, 284, 318 แล้ว นอกจากนี้โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ และมาตรา 284 ในข้อเดียวกัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวเพียงกรรมเดียว โจทก์จึงไม่ต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดนั้นว่าเป็นหลายกรรมต่างกัน ทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มิใช่กฎหมายซึ่งอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด โจทก์จึงไม่จำต้องอ้างบทบัญญัติดังกล่าวในคำขอท้ายฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share