แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กับ ส. ผู้ลงนามแทนโจทก์ในสัญญาท้ายฟ้อง มีนิติสัมพันธ์ต่อกันอย่างไรมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร เป็นข้อเท็จจริงรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบในทางพิจารณา ไม่จำเป็นต้องบรรยายในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
เมื่อฟังว่า โจทก์โดย ส. เป็นคู่สัญญากับจำเลย จำเลยผิดสัญญาโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และได้มีการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเบี้ยปรับตามสัญญาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญารับจ้างเหมาส่งไม้กลมไม้เหลี่ยม ตอม่อ และไม้แปรรูปต่าง ๆ เพื่อใช้ในการสร้างและซ่อมสะพานหลายแห่งในทางสายท่าตูม-สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นทางหลวงแผ่นดินให้กับโจทก์หลายครั้ง หลังจากจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญากับโจทก์ แต่ละฉบับทั้ง ๑๐ ฉบับแล้ว จำเลยทั้งสองผิดสัญญา ไม่สามารถส่งมอบไม้ตามจำนวนและชนิดที่ตกลงสัญญากับโจทก์ไว้ โจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลย เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๑ และโจทก์มีสิทธิได้รับเบี้ยปรับเป็นรายวันตามสัญญาทั้ง ๑๐ ราย รวมเป็นเงิน ๖๔๔,๔๕๐ บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเบี้ยปรับ ๖๔๔,๔๕๐ บาทแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ไม่ได้ความชัดว่าโจทก์กับนายสมนึก เตมียเสนผู้ลงนามในสัญญา มีการมอบหมายกันมาอย่างไรจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยที่ ๒ เป็นแต่เพียงผู้กระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดชอบด้วย จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ส่งไม้ตามสัญญา เพราะมีเหตุสุดวิสัย จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา ไม่ต้องรับผิดสำหรับเบี้ยปรับ จำเลยที่ ๑ยินยอมให้นายสมนึก เตมียเสน ยึดเงินประกันตามสัญญาบางฉบับไปถือได้ว่าสัญญาระหว่างนายสมนึกกับจำเลยที่ ๑ เลิกกันแล้ว อย่างไรก็ตามการบอกเลิกสัญญาที่โจทก์อ้าง ไม่ทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกร้องเป็นเบี้ยปรับสูงเกินควร
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้เบี้ยปรับแก่โจทก์เป็นเงิน๒๐๕,๐๒๗.๑๗ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
สำหรับประเด็นข้อ (๑) ที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น เห็นว่าได้บรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับ ตลอดจนข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นหาเคลือบคลุมไม่ โจทก์กับนายสมนึกผู้ลงนามในสัญญาท้ายฟ้องมีนิติสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร เป็นข้อเท็จจริง รายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบในทางพิจารณาไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ประเด็นข้อ (๒) โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ฟังได้ว่ากรมทางหลวงโจทก์โดยนายสมนึก เตมียเสน เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ ๑ เมื่อจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาโจทก์มีอำนาจฟ้องได้
ประเด็นข้อ (๓) ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า กำหนดเวลาที่จำเลยส่งมอบให้แก่โจทก์ตามสัญญาเป็นเงื่อนเวลาสุดสิ้นตามมาตรา ๑๕๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นฝ่ายใดจะสละเสียก็ได้ ในเรื่องนี้โจทก์หรือนายสมนึกได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาจึงไม่ถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้และไม่ต้องใช้เบี้ยปรับแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อนี้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ประเด็นข้อสุดท้าย ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและได้มีการกำหนดเบี้ยปรับอันเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเบี้ยปรับตามสัญญาได้ ในการที่ศาลจะพิจารณาเรื่องเบี้ยปรับนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๘๓ ได้บัญญัติให้ศาลพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้นในเรื่องนี้ศาลล่างก็ได้พิจารณาถึงอัตราเบี้ยปรับและระยะเวลาที่จำเลยที่ ๑ควรรับผิดเป็นการเหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน