แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จำเลยใช้ดุลพินิจเลิกจ้างโจทก์ฐานหมดความไว้วางใจไม่ถือว่าจำเลยเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์เสียหายเพราะการกระทำของโจทก์มีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะหมดความไว้วางใจนอกจากนี้ยังมีข้อบังคับของจำเลยระบุว่า แม้โจทก์จะไม่มีความผิดแต่ถ้ามีมลทินหรือมัวหมอง ผู้อำนวยการมีคำสั่งให้เลิกจ้างได้ฉะนั้นการไม่ยกเลิกคำสั่งเลิกจ้าง จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใด
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์และไม่ยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างไม่เป็นละเมิด แต่จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จึงต้องจ่ายเงินค่าชดเชยแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอให้จำเลยชำระค่าชดเชยด้วย โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คณะกรรมการส่วนข้างมากมีความเห็นว่าการกระทำของโจทก์ตามพฤติการณ์ดังกล่าวมุ่งช่วยเหลือเจ้าของสินค้าให้ชำระเงินค่าขนส่งแก่องค์การจำเลยน้อยกว่าที่ควร ทำให้องค์การจำเลยขาดประโยชน์และได้รับความเสียหาย เป็นการผิดต่อวินัย ควรเลิกจ้างโจทก์ฐานหมดความไว้วางใจ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งผู้อำนวยการของจำเลยเห็นชอบด้วย จึงได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.6 คำสั่งเลิกจ้างเช่นนี้ผู้อำนวยการของจำเลยมีอำนาจกระทำได้ตามข้อบังคับข้อ 22 มิใช่เป็นการละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อผิดต่อกฎหมายดังโจทก์ฟ้อง หากภายหลังต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมตามเอกสารหมาย จ.2, จ.10 และนายอารมณ์ วงศ์ไทยพนักงานฝ่ายกฎหมายของจำเลยจะมีความเห็นว่า ตามกระบวนยุติธรรมโจทก์ไม่มีความผิด ดังความเห็นในเอกสารหมาย จ.3 แต่องค์การจำเลยก็ได้พิจารณาเหตุผลประกอบพฤติการณ์ในการกระทำของโจทก์เห็นไม่ควรที่จะมีคำสั่งยกเลิกการเลิกจ้างให้ เหตุผลปรากฏในหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งการใช้ดุลพินิจเช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่ามิใช่องค์การจำเลยเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์เสียหาย เพราะการกระทำของโจทก์ดังกล่าวมา สมควรที่องค์การจำเลยจะหมดความไว้วางใจ และข้อนี้มีข้อบังคับข้อ 22 วรรคสองสนับสนุนอยู่ว่า แม้โจทก์จะไม่มีความผิดแต่ถ้ามีมลทินหรือมัวหมอง ผู้อำนวยการมีคำสั่งให้เลิกจ้างได้ ฉะนั้นการไม่ยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาเกี่ยวกับปัญหาค่าเสียหาย ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์เห็นว่า แม้โจทก์จะได้บรรยายรายละเอียดของจำนวนเงินที่โจทก์ต้องสูญเสียไปว่าเป็นเงินเดือน เงินช่วยค่าครองชีพ เงินบำเหน็จ ตามข้อบังคับ กับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แต่เงินจำนวนเหล่านั้นโจทก์ตั้งมูลฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยเป็นค่าเสียหายฐานละเมิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยมิได้ทำละเมิด จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนโจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จและค่าชดเชยตามข้อบังคับกันตามกฎหมายแรงงานประการใดหรือไม่ ไม่มีประเด็นตามฟ้องให้ต้องวินิจฉัยในคดีนี้”
พิพากษายืน