คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7384/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาขอให้รอการลงโทษ แต่เมื่อคดีของจำเลยที่ 1 ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา หากศาลฎีกาเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่เหมาะสม ย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ให้เหมาะสมแก่ความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 โดยรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42, 64 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 7, 37
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง, 64 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 11, 79 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถโดยประมาท (ที่ถูกต้องระบุว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทมาด้วย) ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต จำคุก 15 วัน ฐานใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย ปรับ 3,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตและใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม (ที่ถูกต้องปรับบทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาด้วย) ฐานขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตคงจำคุก 10 วัน ฐานใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหาย สำหรับผู้ประสบภัยไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย คงปรับ 2,000 บาท รวมโทษจำเลยที่ 2 เป็นจำคุก 1 ปี 10 วัน และปรับ 2,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 11, 39 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้ประกันจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2547 ปรากฏตามใบมรณบัตรท้ายคำร้องโจทก์รับว่าเป็นความจริง
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… พนักงานสอบสวน ที่ออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า การชนกันครั้งนี้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
แม้จำเลยที่ 1 จะฎีกาว่าไม่ได้ประมาทมิได้ฎีกาขอให้รอการลงโทษ แต่เมื่อคดีของจำเลยที่ 1 ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา หากศาลฎีกาเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่เหมาะสม ย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 และศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้พยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด โดยจำเลยที่ 1 ยอมช่วยเหลือค่าทำศพนางชวนเป็นเงิน 7,000 บาท ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 15,000 บาท และนำเงินมาวางศาลเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทายาทของนางชวนผู้ตายอีกจำนวน 30,000 บาท จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 กลับตัว โดยรอการลงโทษให้ แต่เพื่อให้หลาบจำและแก้ไขความประพฤติที่เสียหายของจำเลยที่ 1 จึงเห็นควรลงโทษปรับและคุมความประพฤติจำเลยที่ 1 ไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ปรับ 9,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ส่วนโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติ ให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี และให้จำเลยที่ 1 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 1 เห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.

Share