คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2344/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 52 วรรคสองบัญญัติให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าหากวินิจฉัยอุทธรณ์เกินกำหนดจะมีผลเป็นอย่างไร ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ในกำหนดจึงไม่ทำให้อำนาจของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่จะรับวินิจฉัยอุทธรณ์หมดไป เพียงแต่ผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ทันทีหลังจากพ้นกำหนดเวลาสามสิบวันโดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามขั้นตอนเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 10 และ 12 กุมภาพันธ์ 2525 เจ้าพนักงานท้องถิ่นเขตพระโขนงได้มีคำสั่งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างอาคารและแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ตามลำดับโจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องจึงอุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลยทั้งเก้าซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยทั้งเก้าวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ถูกต้องทั้งหนังสือแจ้งให้ระงับการก่อสร้างและให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารมีถึงโจทก์ภายหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้วขอให้พิพากษาว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยทั้งเก้าให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยได้วินิจฉัยอุทธรณ์ไว้ชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ก่อสร้างอาคารผิดจากแบบที่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานท้องถิ่นให้โจทก์แก้ไขและยื่นขออนุญาตให้ถูกต้อง แต่โจทก์มิได้กระทำกลับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารให้เป็นของนิติบุคคลอาคารชุดโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารพิพาทเมื่อปี 2523 และก่อสร้างเสร็จในปี 2524วันที่ 22 พฤษภาคม 2524 โจทก์ขอจดทะเบียนอาคารดังกล่าวเป็นอาคารชุดโจทก์ขายห้องชุดให้แก่ลูกค้า และจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด ชื่อแกรนดวิลเฮ้าส์ ในปี 2524 ตามเอกสารหมาย จ.4ต่อมาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2525 เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการก่อสร้าง อ้างว่าก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาตวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2525 เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2522 และยื่นขออนุญาตให้ถูกต้องภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง วันที่ 11มีนาคม 2525 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ วันที่ 29 เมษายน 2526 ประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย จ.6 มีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์เกินกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้คำสั่งดังกล่าวไม่อาจใช้บังคับได้นั้นปัญหานี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายตั้งประเด็นไว้ในฟ้อง โจทก์มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 52 วรรคสองบัญญัติว่า “ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์แล้วแจ้งคำวินิจฉัยเป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์และเจ้าพนักงานท้องถิ่น คำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด แต่ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสนอคดีต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์”เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวนี้ แม้จะได้กำหนดเวลาให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จไปโดยเร็ว แต่ก็ไม่ได้บัญญัติว่าหากวินิจฉัยอุทธรณ์เกินกำหนดเวลาดังกล่าวมีผลเป็นอย่างไร ไม่มีสภาพบังคับจึงไม่ทำให้อำนาจของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์หมดไป เพียงแต่เป็นเหตุให้ผู้อุทธรณ์มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ทันที หลังจากพ้นระยะเวลาดังกล่าวโดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามขั้นตอน คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้ามีผลบังคับได้”
พิพากษายืน

Share