คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องและคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องระบุว่า ท.กับพวกรวม 7 คนโดย จ.ผู้รับมอบอำนาจและข้าพเจ้า ท.กับพวกรวม 7 คน ปรากฏตามรายชื่อและที่อยู่ท้ายคำฟ้องนี้ พร้อมทั้งแนบรายชื่อและที่อยู่ของโจทก์ทั้งเจ็ดมาด้วย ส่วนตามคำฟ้องเดิมโจทก์ได้แนบหนังสือมอบอำนาจมาท้ายคำฟ้องด้วยว่า โจทก์ทั้งหกได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 7ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้รับมรดกของ ล.เจ้ามรดกเป็นผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการดังจะกล่าวต่อไปนี้แทนข้าพเจ้าจนเสร็จการ ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 7 เป็นผู้ฟ้องคดีแทน ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 และจำเลยที่ 1 เป็นทายาทของ ล.เจ้ามรดกโจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล และได้จัดการโอนมรดกมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามลำพังแล้วนำไปจำนองหนี้ส่วนตัวไว้กับจำเลยที่ 2 โดยทายาทอื่นมิได้รู้เห็นยินยอมย่อมเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 การจำนองดังกล่าวจึงเป็นกิจการที่ได้นำไปนอกชอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิขัดขวางมิให้จำเลยทั้งสองสอดเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้เสมอ ฟ้องโจทก์จึงไม่เกี่ยวกับคดีมรดก จะนำอายุความตามมาตรา 1754มาบังคับมิได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของล.ที่ตกได้แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ทั้งเจ็ดไว้กับจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน เมื่อจำเลยที่ 2 รับจำนองไว้โดยไม่สุจริต จึงชอบที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ล.ซึ่งมีทายาทด้วยกัน 11 คนรวมทั้งโจทก์ทั้งเจ็ด การที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองย่อมเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแก่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาทด้วยกันทั้งหมดทุกคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 เมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท 1 ใน 11 ส่วน จึงต้องเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งเจ็ดและทายาทอื่นซึ่งรวมแล้วเพียง10 ใน 11 ส่วนเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 7 เป็นผู้ฟ้องคดีแทน โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาของนายเหลาหรือเฉลา อร่ามหรืออะร่าม มีบุตรด้วยกัน 10 คน คือ จำเลยที่ 1 นางอุทัย อร่าม โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 เด็กหญิงจันทร์ อร่ามและเด็กชายสุธน อร่าม นายเหลาหรือเฉลาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2524 ในระหว่างที่ยังมีชีวิต นายเหลาหรือเฉลามีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้กับโจทก์ที่ 1 คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 2886, 2887, 3460 และ 3466ตำบลหนองโบสถ์ (ลำไทรโยง) อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2528 ศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเหลาหรือเฉลา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสี่แปลงเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 แล้วจดทะเบียนจำนองให้แก่จำเลยที่ 2 โดยปกปิดมิให้ทายาทอื่นรู้ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ ทั้งนี้โดยการรู้เห็นของจำเลยที่ 2 จึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เลขที่ 2886, 2887, 3460 และ3466 ตำบลหนองโบสถ์ (ลำไทรโยง) อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองภายใน 15 วัน หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยที่ 2 ให้การว่า คำฟ้องของโจทก์ในช่องคู่ความไม่ได้ระบุว่าใครเป็นโจทก์ที่เท่าใด จำเลยที่ 2 ไม่อาจทราบได้ว่าใครเป็นโจทก์บ้างจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่มีข้อความระบุว่ามอบอำนาจให้นายจิตร อร่าม ฟ้องคดีแทน นายจิตรจึงไม่มีอำนาจฟ้องฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 จำนวน100,000 บาทและนำที่ดินตามฟ้องจำนวน 4 แปลงมาจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนจำนองไว้โดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนอง ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เลขที่ 2886, 2887, 3460 และ3466 ตำบลหนองโบสถ์ (ลำไทรโยง) อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเหลาหรือเฉลา อร่ามหรืออะร่าม มีบุตรด้วยกัน 10 คน คือจำเลยที่ 1 นางอุทัย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 เด็กหญิงจันทร์และเด็กชายสุธน นายเหลามีที่ดิน 6 แปลงรวมทั้งที่ดินพิพาทนี้ด้วยนายเหลาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 1ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนายเหลา โดยนายชัยวัฒน์ เข็มทอง เป็นทนายความ และศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเหลาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม2528 ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2528 จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายเหลาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวแล้วได้จดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ในวันเดียวกันนั้น มีปัญหาตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าตามคำฟ้องและคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ซึ่งจำเลยทั้งสองรับสำเนาแล้วไม่ได้คัดค้านนั้นระบุว่านางท้วน อร่าม กับพวกรวม 7 คน โดยนายจิตร อร่าม ผู้รับมอบอำนาจและข้าพเจ้า นางท้วน อร่าม กับพวกรวม 7 คน ปรากฏตามรายชื่อและที่อยู่ท้ายคำฟ้องนี้ พร้อมทั้งแนบรายชื่อและที่อยู่ของโจทก์ทั้งเจ็ดมาด้วย ส่วนตามคำฟ้องเดิมโจทก์ได้แนบหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องมาด้วยว่า โจทก์ทั้งหกคนได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 7ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้รับมรดกของนายเหลาเจ้ามรดก(บิดาผู้วายชนม์) เป็นผู้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้มีอำนาจกระทำการดังกล่าวต่อไปนี้แทนข้าพเจ้าจนเสร็จการ จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 7 เป็นผู้ฟ้องคดีแทน ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีข้อความว่าให้เป็นโจทก์ฟ้องคดี หมายถึงให้เป็นผู้เสียหายเองย่อมขัดต่อกฎหมาย โจทก์ที่ 7 จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 นั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวยังมีข้อความระบุต่อไปว่า 1. เป็นโจทก์ฟ้องคดี…เพิกถอนนิติกรรมระหว่างนายสง่า อะร่ามหรืออร่าม กับนางฉวีวรรณ ตั้งจาตุรนต์รัศมี ต่อศาล และให้มีอำนาจยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความสละสิทธิหรือการใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา หรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ตลอดจนดำเนินการในชั้นบังคับคดีด้วย ดังนี้จึงมีความหมายชัดเจนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 7 ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้แทน โจทก์ที่ 7 จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 1ถึงที่ 6 ได้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 บัญญัติว่า “เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท” โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 และจำเลยที่ 1 เป็นทายาทของนายเหลา มรดกของนายเหลาย่อมตกทอดเป็นของทายาทในเมื่อนายเหลาตาย โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแล้วได้จัดการโอนมรดกมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามลำพัง แล้วนำไปจำนองหนี้ส่วนตัวไว้กับจำเลยที่ 2 โดยทายาทอื่นมิได้รู้เห็นยินยอมเช่นนี้ จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 การจำนองดังกล่าวจึงเป็นกิจการที่ได้ทำไปนอกขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิขัดขวางมิให้จำเลยทั้งสองสอดเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้เสมอ ฟ้องของโจทก์ไม่เกี่ยวกับคดีมรดก จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาบังคับเกี่ยวกับคดีนี้มิได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยที่ 2 ที่ว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินไว้โดยสุจริตนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2นำสืบรับว่าครั้งแรกจำเลยที่ 1 และนายสุธีแจ้งว่าขอกู้เงินจำนวน100,000 บาท โดยจะนำที่ดินมาจำนอง แต่ขณะนั้นไม่ได้นำหลักฐานมาจำเลยที่ 2 ตกลงจะให้จำเลยที่ 1 กู้ ต่อมาจำเลยที่ 1 กับนายสุธีมาหาจำเลยที่ 2 อีก และแจ้งว่าจะมาจดทะเบียนจำนองที่ดินและแจ้งว่าได้นำหลักฐานมาแล้วจะไปทำเรื่องคอยอยู่ที่สำนักงานที่ดิน ให้จำเลยที่ 2 เตรียมเงินไว้และตามไปเมื่อจำเลยที่ 1 และนายสุธีกลับมาบอกว่าทำเรื่องเสร็จแล้ว จำเลยที่ 2 จึงได้ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินและจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ส่วนนายสุรพงษ์ ทัดสี เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินได้เบิกความเป็นพยานจำเลยว่าเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม2528 จำเลยที่ 1 ได้ไปพบพยานที่สำนักงานที่ดินอำเภอนางรอง มีคำสั่งศาลตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกไปด้วยจำเลยที่ 1 ขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และจดทะเบียนจำนองด้วย พยานได้ให้คำแนะนำนัดให้มาใหม่วันรุ่งขึ้น รุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 ได้มาพบพยานและนำ น.ส.3 พร้อมทั้งคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกมาด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาก่อน เมื่อนายสุธีกับจำเลยที่ 1 ไปขอกู้เงินจากจำเลยที่ 2 จำนวนสูงถึง 100,000 บาท โดยไม่นำหลักฐานหนังสือสำคัญมาให้จำเลยที่ 2 ดูว่าที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่และคุ้มกับจำนวนเงินหรือไม่ จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะให้จำเลยที่ 1 กู้เงินจำนวนมากโดยไม่ได้ดูหลักฐานก่อน แต่กลับปรากฏจากคำเบิกความของนายไพโรจน์ สีชุมแสง พยานโจทก์ว่า เมื่อพ.ศ. 2527 จำเลยที่ 1 กู้เงินจากจำเลยที่ 2 และให้พยานเป็นผู้ค้ำประกันโดยมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของพยานให้จำเลยที่ 2 ยึดไว้ด้วย ต่อมา พ.ศ. 2528 จำเลยที่ 1 จะขอเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของพยานและจะเอาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ให้ยึดถือแทน แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอม เพราะหนังสือรับรองการทำประโยชน์ยังเป็นชื่อนายเหลา จำเลยที่ 2 แนะนำให้จำเลยที่ 1 ไปหาทนายความเพื่อขอรับมรดกและจะออกเงินให้ก่อนด้วยหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาคืนให้พยานซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ไปที่สำนักงานที่ดินอำเภอ 2 ครั้งครั้งแรกวันที่ 24 ธันวาคม 2528 ครั้งที่สองวันที่ 25 ธันวาคม 2528ซึ่งตรงกับบันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 2 และหนังสือให้ความยินยอมของสามีจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2528 ในเอกสารหมาย ล.1อันดับที่ 11 และ 12 ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ไปสำนักงานที่ดินอำเภอครั้งเดียวในวันที่ 25 ธันวาคม 2528 แล้ว เอกสารที่จำเลยที่ 2ลงชื่อไม่น่าจะลงวันที่ 24 ธันวาคม 2528 ไปได้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายสด บุญฤกษ์ ผู้ใหญ่บ้านมาเบิกความรับรองเอกสารว่าจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นหนี้เงินกู้จำเลยที่ 2 จำนวน 6,000 บาทค่าจ้างทนายเกี่ยวกับการจัดตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเหลา จำนวน 3,000 บาท ค่าจ้างเกี่ยวกับการดำเนินการเป็นผู้จัดการมรดก การโอนและที่อื่น ๆ เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท และต่อมาโจทก์ที่ 7 ร้องขอต่อศาลเพื่อเพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกและขอให้ตั้งโจทก์ที่ 7 เป็นผู้จัดการมรดกแทน จำเลยที่ 1ยอมรับอีกว่าไม่ได้บอกเรื่องที่ขอเป็นผู้จัดการมรดกให้มารดาและน้อง ๆ ทราบเนื่องจากทนายความบอกว่าไม่ต้องบอกก็ได้ และในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้เบิกความว่าทายาททุกคนยินยอมให้จำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดก เหตุที่เบิกความเช่นนั้นเนื่องจากทนายความบอกว่าหากไม่เบิกความเช่นนั้นแล้วจำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้เบิกความไปตามความเป็นจริง พยานหลักฐานของโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายเหลาที่ตกได้แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ทั้งเจ็ดย่อมเป็นการเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน เมื่อจำเลยที่ 2 รับจำนองไว้โดยไม่สุจริต จึงชอบที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่เนื่องจากที่ดิน น.ส.3ก เลขที่ 2886, 2887, 3460 และ3466 ตามฟ้อง เป็นทรัพย์มรดกของนายเหลาซึ่งมีทายาทด้วยกัน11 คน การที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองจึงเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาทด้วยกันทั้งหมดทุกคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1359 เมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเพียง 1 ใน 11ส่วน จึงต้องเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งเจ็ดและทายาทอื่นซึ่งรวมแล้วเพียง 10 ใน 11 ส่วนเท่านั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินพิพาททั้งหมดศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เลขที่ 2886, 2887, 3460และ 3466 ตำบลหนองโบสถ์ (ลำไทรโยง) อำเภอนางรองจังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งเจ็ดและทายาทจำนวน 10 ใน 11 ส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share