คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 385/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า ROZA เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทั้งในลักษณะของภาษาเขียนและภาษาพูด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าย่อมมุ่งหวังให้สาธารณชนรู้จักด้วยการอ่านและออกเสียง เสียงอ่านของคำว่า ROZA เป็นสำเนียงไทยว่า โรซ่า เมื่อพิจารณาคำว่า ROZA ของโจทก์กับคำว่า ROSA จะเห็นว่ามีอักษรโรมัน 4 ตัวเรียงกัน คงแตกต่างกันเฉพาะตัวที่ 3 คือ ตัว Z กับตัว S เท่านั้น ที่สำคัญคือตัวอักษรที่เป็นสระและมีผลต่อการออกเสียงคือตัว O และตัว A ทั้ง 2 คำใช้เหมือนกันและอ่านออกเสียงเป็น 2 พยางค์เช่นกัน ส่วนตัว S และ Z นั้น แม้จะเขียนแตกต่างกัน แต่การออกเสียงเป็นสำเนียงไทยก็คล้ายคลึงกันมาก ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้
โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ROZA สำหรับสินค้าประเภทซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ปลากระป๋อง น้ำมะเขือเทศ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า ROSA จดทะเบียนใช้กับสินค้าประเภทกาแฟ ชา ลูกกวาด น้ำผึ้ง เค้ก เมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า ROZA เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามนัยมาตรา 8 (10) ของ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แม้จะเป็นการจดทะเบียนกับสินค้าต่างจำพวกกับที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเสียได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ฉบับที่ 15/2544 เรื่อง ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 234480 ห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 234480 ทะเบียนเลขที่ ค. 10680 และมีคำสั่งให้จำหน่ายเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 234480 ทะเบียนเลขที่ ค. 10680 ออกจากสารบบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “ROZA” อ่านเป็นภาษาไทยว่า “โรซ่า” ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกเมื่อปี 2514 โดยโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าประเภทซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนเพิ่มเติมสำหรับสินค้าจำพวก 29, 30 และ 32 เมื่อปี 2535 บริษัทโรซา ฟู้ด โก., แอลทีดี. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไต้หวันยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน “ROZA” และอักษรจีน 2 ตัว อ่านว่า “ล้อซอ” ตามคำขอเลขที่ 234480 เพื่อใช้สำหรับสินค้าจำพวก 30 ได้แก่ กาแฟ ชา ลูกกวาด น้ำผึ้ง เค้ก นายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ขอรับจดทะเบียนได้ จึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ตามทะเบียนเลขที่ ค. 10680 โจทก์ได้ยื่นคำขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค. 10680
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับจดทะเบียนจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีสาระสำคัญอยู่ที่อักษรโรมัน “ROZA” อ่านออกเสียงเป็นสำเนียง “โรซ่า” ส่วนคำอื่น ๆ ที่โจทก์ใช้ประกอบเครื่องหมายการค้า เช่น คำว่า TOMATO, SAUCE, SARDINES ตลอดจนรูปปลา และรูปมะเขือเทศ นั้น นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนทำหนังสือปฏิเสธที่จะถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้คำและรูปภาพดังกล่าว ดังนั้น คำว่า “ROZA” จึงเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทั้งในลักษณะของภาษาเขียนและภาษาพูด กล่าวคือ สินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ROZA” ย่อมมุ่งหวังที่จะให้สาธารณชนรู้จักด้วยการอ่านและดูคำว่า “ROZA” นอกจากนั้นเสียงอ่านของคำว่า “ROZA” ที่อ่านเป็นสำเนียงไทยว่า “โรซ่า” มีความสำคัญเช่นกัน เมื่อพิจารณาคำว่า “ROZA” ของโจทก์กับคำว่า “ROSA” จะเห็นได้ว่ามีอักษรโรมัน 4 ตัวเรียงกัน คงแตกต่างกันเฉพาะตัวที่ 3 คือ ตัว Z กับตัว S เท่านั้น ที่สำคัญคือตัวอักษรที่เป็นสระและมีผลต่อการออกเสียงคือตัว O และ A ทั้ง 2 คำใช้เหมือนกันและอ่านออกเสียงเป็น 2 พยางค์ เช่นกัน ส่วนตัว Z และ S นั้น แม้จะเขียนแตกต่างกันแต่การออกเสียงเป็นสำเนียงไทยคล้ายคลึงกันมาก ถึงแม้ว่าจำเลยจะนำสืบว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “ROSA” มีอักษรภาษาจีนกำกับ อ่านออกเสียงเป็นภาษาไทยว่า “ล้อซอ” แต่คำภาษาไทยคำว่า “ล้อซอ” นั้นไม่ได้ปรากฏในเครื่องหมายการค้า คำว่า “ROSA” จึงจะยึดถือเสียงอ่านตัวอักษรจีนมาเป็นเสียงอ่านตัวอักษรโรมันไม่ได้ เครื่องหมายการค้า “ROZA” กับ “ROSA” จึงมีความคล้ายคลึงกันมากทั้งในลักษณะของการประกอบตัวอักษรโรมันเป็นคำ และเสียงอ่านเป็นสำเนียงไทย ซึ่งสาธารณชนอาจสับสนหลงผิดในเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำตามเครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นภาษาต่างประเทศ เสียงอ่านเป็นสำเนียงไทยที่ใช้อ่านและเรียกขานคำภาษาต่างประเทศจึงเป็นสาระสำคัญอย่างมาก
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่าโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ROZA” กับสินค้าประเภทซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ปลากระป๋อง น้ำมะเขือเทศ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ROSA” จดทะเบียนใช้กับสินค้าประเภทกาแฟ ชา ลูกกวาด น้ำผึ้ง เค้ก จะทำให้สาธารณชนสับสนหรือเข้าใจผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนได้หรือไม่ เห็นว่า สินค้าที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวล้วนอยู่ในประเภทอาหารและสิ่งบริโภค แม้โจทก์จะไม่ได้จดทะเบียนไว้ในสินค้ากาแฟ ชา ลูกกวาด น้ำผึ้ง เค้ก ก็ตาม แต่จากทางนำสืบของโจทก์ เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “ROZA” มีปริมาณการจำหน่ายจำนวนมาก มีการใช้หรือโฆษณาเป็นที่แพร่หลายจนทำให้สาธารณชนทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดี การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ROSA” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว และซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามนัยแห่งมาตรา 8 (10) ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แม้จะใช้กับสินค้าต่างรายการกับที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนเสียได้ การที่นายทะเบียนซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ROSA” ไว้ จึงไม่ชอบ และเมื่อโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 และคณะกรรมการดังกล่าวมีคำวินิจฉัยว่าไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ดเพื่อให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ROSA” ที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนไว้ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 234480 ทะเบียนเลขที่ ค. 10680 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share