คำวินิจฉัยที่ 40/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนผู้ซื้อที่ดินมือเปล่ามีเอกสารสิทธิเป็น น.ส. ๓ ฟ้องกรมที่ดิน จำเลยที่ ๑ และเอกชนด้วยกัน ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๒ ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ของโจทก์ทั้งหมด ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว และชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมทั้งให้ขับไล่จำเลยที่ ๒ และบริวาร พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและส่งมอบที่ดินในสภาพเรียบร้อยให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินตาม น.ส. ๓ ระหว่างโจทก์กับผู้มีชื่อเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมาย ค่าเสียหายสูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดี สืบเนื่องมาจากการออกโฉนดทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ของโจทก์ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๐/๒๕๕๗

วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสงขลา
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสงขลาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ นายประดิษฐ์ จิตมั่น โจทก์ ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ นายฝาด หมุดบิลและ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสงขลา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๓๒๔/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๑๐๗๒ หมู่ที่ ๒ ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ ๓๒ ตารางวา จากนางรัชนี ฉายารักษ์ ซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๔๘๑ แต่นางลออ อินทุประภา ได้นำ น.ส. ๓ เลขที่ ๑๐๘๘ หมู่ที่ ๒ ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ ๒๙ ตารางวา ไปขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สังกัดจำเลยที่ ๑ ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๑๕๐ ให้แก่นางลออ ทับที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๐๗๒ ของโจทก์ทั้งหมด ต่อมานางลออขายที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่นายหร่อเสะ หมัดแสละ และนายหร่อเสะได้โอนขายให้แก่จำเลยที่ ๒ การกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เป็นการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๑๕๐ และให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ พร้อมทั้งให้ขับไล่จำเลยที่ ๒ และบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมส่งมอบที่ดินในสภาพเรียบร้อยให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๐๗๒ ระหว่างโจทก์กับนางรัชนีไม่บริบูรณ์ และเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การออกโฉนดที่ดินให้แก่นางลออของจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมาย ค่าเสียหายสูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)
ศาลจังหวัดสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๑๕๐ ทับที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธิครอบครอง การออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้มีชื่อของจำเลยที่ ๑ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยเจ้าหน้าที่ในสังกัดได้ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๑๕๐ ให้แก่นางลออ ซึ่งปัจจุบันมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยออกทับที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๐๗๒ ของโจทก์ ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินข้างต้น หรือให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหาย คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ ๑ ออกโฉนดที่ดิน ๑๕๑๕๐ โดยการใช้หลักฐานตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๐๘๘ นำมาออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาทเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน รวมถึงการสั่งให้จำเลยที่ ๒ ถือปฏิบัติต่อสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
แม้อาจมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าก่อนออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาทนั้น โจทก์หรือนางลออเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวดีกว่ากัน ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่ก็อาจเป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า จำเลยที่ ๑ กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายในการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๑๕๐ หรือไม่ และการพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว มาใช้บังคับแก่คดีได้หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๑๐๗๒ จากนางรัชนี แต่ถูกนางลออนำ น.ส. ๓ เลขที่ ๑๐๘๘ ไปขอออกโฉนดที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สังกัดจำเลยที่ ๑ ได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๑๕๐ ให้แก่นางลออทับที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๐๗๒ ของโจทก์ทั้งหมด แล้วนางลออได้ขายที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อ จากนั้นผู้มีชื่อได้ขายให้แก่จำเลยที่ ๒ การกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เป็นการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๑๕๐ และชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมทั้งให้ขับไล่จำเลยที่ ๒ และบริวาร พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและส่งมอบที่ดินในสภาพเรียบร้อยให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๐๗๒ ระหว่างโจทก์กับนางรัชนีไม่บริบูรณ์ และเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมาย ค่าเสียหายสูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออกโฉนดทับที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๐๗๒ ของโจทก์ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายประดิษฐ์ จิตมั่น โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ นายฝาด หมุดบิลและ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share