คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7383/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นนิติบุคคลอาคารชุดตาม พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 จำเลยไม่ได้เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่ง ป. รัษฎากรมาตั้งแต่ต้น และไม่มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีขายจากเจ้าของห้องชุดแล้วนำส่งให้แก่โจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิขอคืนภาษีขายทั้งหมดที่แสดงในแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์ และจำเลยไม่มีสิทธินำภาษีซื้อที่ชำระไปมาหักออกจากภาษีขาย การที่จำเลยนำภาษีซื้อมาคำนวณหักออกจากภาษีขายแล้วได้รับเครดิตภาษี หรือรับคืนเป็นเงินสดไปจึงไม่ถูกต้อง จำเลยมีหน้าที่คืนภาษีซื้อทั้งหมดที่นำมาใช้คำนวณภาษีตามแบบแสดงรายการดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ค. 10 ตามประกาศกรมสรรพากรที่ขยายระยะเวลาขอคืนภาษีอากรสำหรับนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะเดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2540 จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินภาษีที่ชำระเกินในปี 2535 และ 2536 คืน ส่วนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2540 แม้จำเลยจะไม่ได้ระบุจำนวนภาษีซื้อและภาษีขายของเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2537 และเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2538 ในรายละเอียดของภาษีขายและภาษีซื้อที่แนบไปพร้อมกับคำร้องขอคืนภาษี จะถือว่าจำเลยไม่ได้ขอคืนภาษีสำหรับเดือนดังกล่าวไม่ได้ เพราะรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีซื้อและภาษีขายแนบท้ายคำร้องเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่จะเป็นแนวทางให้เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบว่ารายการภาษีซื้อและภาษีขายที่จำเลยยื่นไว้ตามแบบแสดงรายการของเดือนที่ขอคืนภาษีอากรถูกต้องหรือไม่ และคำนวณว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่จำเลยตามคำขอหรือไม่ เพียงใด การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ไม่นำภาษีขายของเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2537 และเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2538 ที่โจทก์จะต้องคืนให้แก่จำเลยมาคำนวณหักออกจากภาษีซื้อที่จำเลยนำไปใช้หักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อภาษีขายที่โจทก์จะต้องคืนให้แก่จำเลยสำหรับปี 2537 ถึงปี 2539 มากกว่าภาษีซื้อที่จำเลยใช้ในการคำนวณภาษีและรับคืนไปจากโจทก์เป็นเงินสดในปี 2540 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระภาษีที่อ้างว่าจำเลยได้รับคืนเกินไปตามฟ้อง
คดีนี้ เจ้าพนักงานของโจทก์มิได้ประเมินให้จำเลยชำระภาษีเพิ่มเติม แต่มีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินภาษีที่ได้รับคืนเกินไป จึงเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากร ฯ มาตรา 7 (3) ซึ่งมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวบัญญัติให้ดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ และ ป. รัษฎากรได้บัญญัติไว้เพียงกำหนดเวลาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และแบบในการขอคืนเท่านั้น มิได้กำหนดให้ผู้ขอคืนภาษีอากรที่ไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการขอคืนภาษีดังกล่าวต้องอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีการประเมินภาษีเพิ่มเติมแก่จำเลย การที่จำเลยไม่นำข้อพิพาทเกี่ยวกับการคืนภาษีอากรมาฟ้องต่อศาลภาษีอากร คงมีผลแต่เพียงว่าโจทก์ไม่ต้องคืนเงินภาษีอากรให้แก่จำเลยตามคำร้องเท่านั้น
เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินอากรคืนตามคำร้องเพราะได้รับเงินภาษีอากรคืนไปแล้วเกินกว่าที่ควรได้รับ และฟ้องเรียกเงินภาษีอากรคืนจากจำเลย โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ว่าการคำนวณของเจ้าพนักงานถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยได้รับคืนเงินภาษีอากรไปจากโจทก์เกินไปตามฟ้องจริง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การคำนวณของเจ้าพนักงานของโจทก์ไม่ถูกต้อง จำเลยไม่ได้รับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนเกินไปตามฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีภาษีซื้อที่ต้องชำระมากกว่าภาษีขายที่จำเลยขอรับคืน ขอให้จำเลยคืนภาษีจำนวน 115,047.45 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลอาคารชุดตาม พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุด และมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว และมีข้อบังคับกำหนดให้เจ้าของร่วมจัดตั้งกองทุนให้จำเลยเพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการดูแลบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลางและบริการทั่วไปให้แก่เจ้าของร่วม โดยเจ้าของร่วมแต่ละรายต้องออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่ออาคารชุดที่เกิดจากการบริการส่วนรวม และที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีต่อห้องชุดที่เกิดจากบริการส่วนรวม รวมทั้งค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษา จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้โดยมิได้ประกอบกิจการอื่นใดนอกเหนือจากการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว จำเลยจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2535 และคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยนำภาษีซื้อที่เกิดจากการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยไปหักออกจากภาษีขายที่เรียกเก็บจากเงินกองทุนค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าสาธารณูปโภคที่จำเลยจัดเก็บจากเจ้าของห้องชุดในแต่ละเดือนภาษี เดือนใดภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายจำเลยจะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยนำไปใช้เครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไปหรือขอคืนเป็นเงินสด เดือนใดภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ จำเลยจะชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากส่วนต่างดังกล่าว ต่อมาโจทก์ได้ออกประกาศเรื่อง ขยายกำหนดเวลายื่นรายการเพื่อชำระหรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนิติบุคคลอาคารชุด กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดที่เข้าลักษณะตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 33/2540 และได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วกลับคืนสู่สถานะเดิม โดยเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องขอคืนภาษีขายในส่วนที่ได้เสียไปแล้วโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย และต้องคืนภาษีซื้อในส่วนที่ได้รับคืนหรือใช้สิทธิเครดิตไปแล้ว ยื่นรายการตามแบบ ค. 10 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2541 จำเลยยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระให้แก่โจทก์ไปแล้วในระหว่างเดือนภาษีมกราคม 2537 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2540 เป็นเงิน 137,987.24 บาท เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541 เนื่องจากจำเลยเห็นว่าการดำเนินการของจำเลยไม่เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 33/2540 ดังกล่าว เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ตั้งแต่เริ่มประกอบการจนถึงเดือนธันวาคม 2540 แล้ว เห็นว่าในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวจำเลยมีภาษีซื้อที่รับคืนไปเกินกว่าภาษีขาย จึงไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษี แต่ต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับคืนเกินไปเป็นเงิน 115,047.45 บาท และแจ้งให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 115,047.45 บาท คืนจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่ง ป. รัษฎากร มาตั้งแต่ต้น และไม่มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีขายจากเจ้าของห้องชุดแล้วนำส่งให้แก่โจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิขอคืนภาษีขายทั้งหมดที่แสดงในแบบแสดงรายการประจำเดือนภาษีพฤศจิกายน 2535 ถึงเดือนธันวาคม 2540 จากโจทก์ ในทำนองเดียวกันเมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน จำเลยก็ไม่มีสิทธินำภาษีซื้อที่ชำระไปมาหักออกจากภาษีขาย การที่จำเลยนำภาษีซื้อมาคำนวณหักจากภาษีขายแล้วได้รับเครดิตภาษี หรือรับเงินสดไปจึงไม่ถูกต้อง จำเลยจึงมีหน้าที่คืนภาษีซื้อทั้งหมดที่นำมาใช้ในการคำนวณภาษีตามแบบแสดงรายการดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย
เมื่อพิเคราะห์ผลการตรวจสอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยที่เจ้าพนักงานของโจทก์จัดทำขึ้น ประกอบแบบแสดงรายการเสียภาษีของเดือนพฤศจิกายน 2535 ถึงธันวาคม 2540 ที่จำเลยยื่นต่อโจทก์แล้ว ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนภาษีพฤศจิกายน 2535 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2540 เมื่อนำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขายที่โจทก์จะต้องคืนให้แก่จำเลยในแต่ละเดือนภาษี ประกอบกับเงินที่จำเลยได้รับคืนจากโจทก์เป็นเงินสดแล้ว จำเลยมีสิทธิได้รับเงินภาษีคืนจากโจทก์อีกจำนวน 374,530.37 บาท แต่จำเลยได้ยื่นคำร้องแบบ ค. 10 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประกาศกรมสรรพากรเฉพาะเดือนภาษีมกราคม 2537 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2540 ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินภาษีที่ชำระไปในปี 2535 และ 2536 คืน ส่วนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เดือนภาษีมกราคม 2537 ถึงธันวาคม 2540 นั้น แม้จำเลยจะไม่ได้ระบุจำนวนภาษีซื้อและภาษีขายของเดือนภาษีมกราคม ถึง กรกฎาคม 2537 และเดือนภาษีมกราคม ถึง พฤษภาคม 2538 ในรายละเอียดของภาษีขายและภาษีซื้อที่แนบมาพร้อมกับคำร้องขอคืนภาษีดังกล่าว จะถือว่าจำเลยไม่ได้ขอคืนภาษีสำหรับเดือนภาษีดังกล่าวไม่ได้ เพราะจำเลยได้ระบุชัดในคำร้องแบบ ค. 10 แล้วว่ามีความประสงค์จะขอคืนภาษีสำหรับเดือนภาษีดังกล่าว รายละเอียดเกี่ยวกับภาษีซื้อและภาษีขายที่แนบท้ายคำร้องเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่จะเป็นแนวทางให้เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะเจ้าพนักงานของโจทก์มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับภาษีซื้อและภาษีขายที่จำเลยยื่นไว้ตามแบบแสดงรายการของเดือนภาษีดังกล่าว และต้องนำภาษีซื้อและภาษีขายดังกล่าวมาคำนวณว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่จำเลยตามคำขอหรือไม่ เพียงใด การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ไม่นำภาษีขายของเดือนภาษีมกราคม ถึง กรกฎาคม 2537 และเดือนภาษีมกราคม ถึง พฤษภาคม 2538 ที่โจทก์จะต้องคืนให้แก่จำเลยเพราะจำเลยไม่มีหน้าที่เรียกเก็บจากเจ้าของห้องชุดมาชำระให้แก่โจทก์ มาคำนวณหักออกจากภาษีซื้อที่จำเลยนำไปใช้หักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีดังกล่าว จึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อภาษีขายที่โจทก์จะต้องคืนให้แก่จำเลยสำหรับปี 2537 ถึง 2539 รวมเป็นเงิน 390,895.01 บาท มากกว่าภาษีซื้อที่จำเลยใช้ในการคำนวณภาษี และรับคืนไปจากโจทก์เป็นเงินสดในปี 2540 รวมเป็นเงิน 124,331.15 บาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินจำนวน 115,047.45 บาท ตามฟ้อง
คดีนี้เจ้าพนักงานของโจทก์มิได้ประเมินให้จำเลยชำระภาษีเพิ่มเติม แต่มีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินภาษีที่ได้รับคืนเกินไป จึงเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (3) ซึ่งมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้ขอคืนภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้น และ ป. รัษฎากร ได้บัญญัติไว้เพียงกำหนดเวลาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และแบบที่ใช้ในการขอคืนเท่านั้น มิได้กำหนดให้ผู้ขอคืนภาษีอากรที่ไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการขอคืนภาษีอากรดังกล่าวต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงานด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีการประเมินภาษีเพิ่มเติมแก่จำเลย การที่จำเลยไม่นำข้อพิพาทเกี่ยวกับการคืนภาษีอากรดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลภาษีอากร คงมีผลแต่เพียงว่าโจทก์ไม่ต้องคืนเงินภาษีอากรให้แก่จำเลยตามคำร้องเท่านั้น แต่เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินภาษีอากรคืนตามคำร้องเพราะได้รับเงินภาษีอากรคืนไปแล้วเกินกว่าที่ควรได้รับ และฟ้องเรียกเงินภาษีอากรคืนจากจำเลย โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าการคำนวณของเจ้าพนักงานของโจทก์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยได้รับคืนเงินภาษีอากรไปจากโจทก์เกินไปตามฟ้องจริง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการคำนวณของเจ้าพนักงานของโจทก์ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยไม่ได้รับคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเกินไปตามฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share