แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่อำเภอได้ออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)ในที่พิพาทให้เจ้าของที่ดิน จนกระทั่งสำนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินที่พิพาทให้เจ้าของที่ดินไปแล้ว ดังนี้ถือได้ว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับเดิมเป็นอันยกเลิกแล้วตามความในมาตรา 63 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ต่อมาเจ้าของที่ดินได้นำต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวไปจำนองไว้กับโจทก์ โดยจดทะเบียนการจำนอง ณ ที่ว่าการอำเภอ แล้วต่อมาเจ้าของที่ดินได้นำที่ดินแปลงเดียวกันนี้พร้อมโฉนดไปขายฝากให้บุตรจำเลยโดยจดทะเบียนการขายฝากที่สำนักงานที่ดินจังหวัด แล้วไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ดังนี้ แม้โจทก์จะรับจำนองไว้โดยจดทะเบียนถูกต้องและสุจริตก็ตามก็หามีผลบังคับแก่ที่ดินแปลงพิพาทไม่ โจทก์ผู้รับจำนองไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลย (ผู้รับโอนมรดกที่พิพาท) ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากโจทก์
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 9/2516)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2507 นายทองพูล เพียรดีได้จำนองที่ดินตาม น.ส.3 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ตำบลหล่มสัก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ไว้กับโจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ภายในกำหนดเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองในต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 14,250 บาท ก็ปรากฏว่านายทองพูลได้ไปขอสำเนา น.ส.3 ที่ดินแปลงเดียวกันนี้จากอำเภอ (ต้นฉบับ น.ส.3 อยู่กับโจทก์) แล้วนำไปออกโฉนดเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2509 นายทองพูลได้นำโฉนดที่ดินแปลงนี้ไปขายฝากไว้กับนายไพศักดิ์ ลี้สกุล บุตรจำเลย เป็นเงิน 6,500 บาท เมื่อนายไพศักดิ์ ถึงแก่กรรมที่ดินแปลงนี้ตกทอดเป็นมรดกแก่จำเลยซึ่งมีหน้าที่ไถ่ถอนจำนองกับโจทก์ แต่จำเลยไม่ทำการไถ่ถอน จึงขอให้จำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ย รวม 14,250 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 10,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะไถ่ถอนการจำนองเสร็จสิ้น
จำเลยให้การต่อสู้ว่า นายไพศักดิ์ ลี้สกุล บุตรจำเลยได้รับซื้อฝากที่ดินตามโฉนดแปลงนี้ไว้จากนายทองพูล เพียรดี ซึ่งได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และโดยสุจริตเปิดเผย ที่ดินได้พ้นกำหนดไถ่คืน และได้ตกทอดเป็นมรดกแก่จำเลยต่อมา ฟ้องโจทก์ว่านายทองพูลได้จดทะเบียนจำนองกับโจทก์ไว้เมื่อ พ.ศ. 2507 ตาม น.ส.3 นั้น จำเลยไม่รับรอง เพราะที่ดินแปลงนี้นายทองพูลได้รับโฉนดมาตั้งแต่ปี 2505 อันมีผลให้ลบล้าง น.ส.3 ไปในตัว น.ส.3 ที่โจทก์รับจำนองไว้จึงหามีผลอย่างใดไม่ โจทก์จะอ้างการจดทะเบียนจำนองยกขึ้นยันจำเลยซึ่งได้กระทำการโดยสุจริตและจดทะเบียนการได้มาโดยชอบมิได้
ในวันชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับกันว่า จำเลยได้รับซื้อฝากที่ดินตามโฉนดไว้จากนายทองพูล เพียรดี ซึ่งโฉนดดังกล่าวได้ออกให้แก่นายทองพูลเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2505 ส่วนโจทก์ได้รับจำนองที่ดินแปลงเดียวกันไว้จากนายทองพูลตาม น.ส.3 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2507 ต่างแถลงรับความสมบูรณ์ถูกต้องของนิติกรรมจำนองและขายฝาก และขอให้ศาลชี้ขาดตามคำฟ้อง คำให้การ และ ข้อแถลงรับกันเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์จะมีสิทธิบังคับจำนองแก่จำเลยได้หรือไม่โดยต่างสละประเด็นข้ออื่นทั้งสิ้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายทองพูล เพียรดี ได้ขอใบแทน น.ส.3ไปขอออกโฉนดและได้รับโฉนดตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2505 หนังสือ น.ส.3 จึงเป็นอันยกเลิกไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 63 การจำนองตาม น.ส.3 แม้จะสมบูรณ์สุจริต ก็หามีผลแต่อย่างใดไม่ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้จดทะเบียนนิติกรรมจำนองไว้ก่อนสิทธิจำนองของโจทก์ย่อมใหญ่กว่าสิทธิขายฝากของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 722 พิพากษากลับ ให้จำเลยไถ่ถอนจำนองจากโจทก์ในจำนวนเงิน 14,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 10,000 บาท จากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าไม่ไถ่ให้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมนายทองพูล เพียรดี เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว ต่อมานายทองพูลได้ขอใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์จากอำเภอหล่มสักไปขอออกโฉนดที่ดิน และได้รับโฉนดที่ 159 เมื่อ พ.ศ. 2505 แล้วนายทองพูลจึงได้นำที่ดินพร้อมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (ต้นฉบับอยู่ที่นายทองพูล) ไปจำนองไว้กับโจทก์ โดยจดทะเบียนการจำนองที่อำเภอหล่มสัก เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2507 มีกำหนดเวลาไถ่จำนองภายใน 2 ปี ต่อมานายทองพูลได้นำที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันนี้พร้อมโฉนดไปขายฝากนายไพศักดิ์ ลี้สกุล บุตรของจำเลย จดทะเบียนการขายฝากที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2509 แล้วไม่ได้ไถ่คืน จนนายไพศักดิ์บุตรของจำเลยผู้รับซื้อฝากตาย จำเลยจึงรับโอนมรดกที่พิพาทมาเป็นของจำเลย ทั้งโจทก์จำเลยต่างสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนนิติกรรมโดยถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ว่า การที่อำเภอหล่มสักได้ออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ให้นายทองพูลเพียรดี จนกระทั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ออกโฉนดพิพาทให้นายทองพูล เพียรดี ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2505 ถือได้ว่ากรณีต้องด้วยมาตรา 63 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งบัญญัติว่าเมื่อได้ออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์หนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับเดิมเป็นอันยกเลิก ฉะนั้น การที่นายทองพูล เพียรดีนำต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่ถูกยกเลิกแล้วไปจำนองไว้กับโจทก์ แม้จะได้จดทะเบียนโดยถูกต้องและสุจริตเพียงใดก็หามีผลบังคับแก่ที่ดินแปลงพิพาทไม่ เพราะหลักฐานในการแสดงการครอบครองและรับรองการทำประโยชน์ฉบับที่ทำให้เกิดการจำนองถูกยกเลิกไม่มีผลตามกฎหมายเสียแล้ว และยิ่งกว่านั้นขณะที่ทำจำนองก็เป็นเวลาหลังจากที่ทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาทเรียบร้อยแล้วด้วย การจำนองระหว่างโจทก์กับนายทองพูล เพียรดี ไม่มีผลเป็นการจำนองตามกฎหมาย โจทก์จะบังคับจำนองโดยให้จำเลยไปไถ่ถอนการจำนองที่พิพาทจากโจทก์ไม่ได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์