คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยให้การรับว่าได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว การที่ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่ถูกต้องและคดียังมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิอะไรบ้าง เมื่อถูกเลิกจ้าง ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยดังกล่าวและให้ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาใหม่

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ พิพากษายกฟ้องในประเด็นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ส่วนปัญหาโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้น ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ให้การรับแล้วว่าได้เลิกจ้างโจทก์เพียงแต่ยกเหตุที่ไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องโจทก์ว่า เนื่องจากโจทก์จงใจฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับของโรงงานไฉศิลป์ของจำเลยโดยละทิ้งหน้าที่การงานหนีตามชายคนรักไปอยู่กินฉันสามีภริยาเป็นเวลานานกว่า20 วัน โดยไม่บอกกล่าวจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายการเลิกจ้างโจทก์เป็นไปโดยชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จะฟังว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เสียทีเดียวยังไม่ถนัดนัก เมื่อจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ จำเลยก็ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ดังคำวินิจฉัยโดยละเอียดปรากฏอยู่แล้วข้างต้นนั้น เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยที่ 2 ให้การรับแล้วว่าได้เลิกจ้างโจทก์ และคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปด้วยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางยกฟ้องโจทก์โดยฟังว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาส่วนนี้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะที่วินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ และให้ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาใหม่”

Share