คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 491/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องตอนต้นว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่ทางทุจริตบังคับให้เขาส่งทรัพย์ และในตอนหลังว่า จำเลยรับทรัพย์เหล่านั้นไว้เป็นสินบนหรือสินน้ำใจอ้างกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 136, 137,138 เป็นบทลงโทษดังนี้ ศาลฟังลงโทษตามบทที่พิจารณาได้ความได้ ไม่ถือว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องใจความว่า จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้าน ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันมิชอบบังคับให้นายปัน จันสัยกับพวก ซึ่งเป็นลูกบ้านของจำเลยและถูกเกณฑ์ไปช่วยราชการทหารแล้วหลบหนีมา ให้เงินแก่จำเลยโดยบังคับขู่เข็ญว่า ถ้าไม่ยอมจะจับส่งไปช่วยราชการทหารอีก คนเหล่านั้นมีความกลัวจึงให้เงินแก่จำเลยคนละ 25 บาท และจำเลยได้รับเงินนั้นไว้เป็นสินน้ำใจของจำเลยเอง เพื่อเป็นเครื่องอุปการะแก่การที่จำเลยมิให้โทษแก่คนเหล่านั้น และเป็นเงินสินบนที่จำเลยรับไว้เพื่ออาณาประโยชน์ของจำเลยเองเพื่อละเว้นไม่กระทำการตามหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 136, 137, 138

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์บรรยายความผิดขัดแย้งกันในตัวคือ ในข้อแรกบรรยายว่า จำเลยบังคับเรียกเงิน แต่ในข้อหลังว่าจำเลยรับเงินเป็นสินน้ำใจหรือสินบนตามมาตรา 137, 138 ผู้เรียกไม่ได้บังคับ ดังนี้เมื่อเอาผิดมาตรา 136 แล้วจะเอาผิดมาตรา 137, 138 ไม่ได้ และถ้าผิด มาตรา 136 แล้วก็ไม่ผิด มาตรา 137, 138 จะเอาผิดทั้งสามมาตราตามฟ้องของโจทก์ไม่ได้ จึงไม่เป็นฟ้องที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา 136 เป็นบทซึ่งเจ้าพนักงานบังคับให้เขาส่งทรัพย์ให้แก่ตนโดยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันมิชอบ ส่วนมาตรา 137 เป็นมาตราที่เจ้าพนักงานรับสินน้ำใจในการให้คุณหรือให้โทษ หรือละเว้นมิให้คุณหรือให้โทษมาตรา 138 เป็นมาตราที่เจ้าพนักงานรับสินบนเพื่อทำหรือละเว้นการกระทำการตามหน้าที่หรือนอกเหนือหน้าที่ ทั้งสามมาตรานี้มีข้อความเกี่ยวกันอยู่อย่างใกล้ชิด โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาละเอียดแล้ว ส่วนความผิดของจำเลยเมื่อได้ความตามฟ้อง จะเป็นความผิดมาตราใดนั้นเป็นหน้าที่ของศาลจะชี้ขาด ตามฟ้อง จำเลยต้องเข้าใจข้อหาได้ดีพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดข้อเท็จจริงไปตามรูปคดี

Share