คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7381/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะตั้งประเด็นส่วนที่จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาในคำแก้อุทธรณ์ได้ ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ต. นั้น จำเลยก็ได้โต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของ ต. การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตั้งประเด็นในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ต. หรือไม่ กับฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ต. จึงชอบแล้ว
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง นั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีการแย่งการครอบครองที่ดินกันและฝ่ายที่ถูกแย่งการครอบครองประสงค์จะเอาที่ดินคืน จึงต้องฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่คดีนี้จำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินเป็นมรดกของ ต. ซึ่งตกทอดแก่ทายาทและจำเลยแย่งการครอบครองมาจากทายาทคนอื่นจนได้สิทธิการครอบครองแล้วแต่อย่างใด หากแต่ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของ ต. เพราะ ต. ยกให้ อ. บิดาจำเลยตั้งแต่ ต. ยังมีชีวิตอยู่ เท่ากับอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของ อ. และตกทอดมาเป็นของจำเลย โดย อ. และจำเลยมิได้แย่งการครอบครองมาจากผู้ใด คำให้การของจำเลยจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่น ไม่อาจแย่งการครอบครองในที่ดินซึ่งตนเองมีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของได้ แม้ อ. เคยมีหนังสือไปถึงโจทก์ว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของ ต. ที่จะต้องนำไปแบ่งปันให้ทายาท ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เพราะจำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ต. การโต้แย้งตามหนังสือของ อ. ดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเอาคืนการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว
การขอรังวัดออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาทจากเดิมที่เป็นที่ดินมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเป็นเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ย่อมจะทำให้ทราบแนวเขตและเนื้อที่ของที่ดินได้แน่นอนชัดเจน ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทนั้นเอง เมื่อการรังวัดถูกจำเลยขัดขวางอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ต. หรือไม่
โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยไปเพิกถอนคำคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินและห้ามจำเลยคัดค้านหรือยุ่งเกี่ยวกับการรังวัดออกโฉนดที่ดินเท่านั้น โดยมิได้มีคำขอห้ามจำเลยขัดขวางการแบ่งปันมรดกของโจทก์ในกรณีอื่นด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาห้ามจำเลยขัดขวางการแบ่งปันมรดกของโจทก์จึงเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 108 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองคันทรง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ให้จำเลยไปเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยคัดค้านหรือยุ่งเกี่ยวกับการรังวัดออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาท หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายไปจดทะเบียนเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 หากโจทก์ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้โจทก์ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย
โจทก์ให้การและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 108 ตำบลหนองคันทรง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด แก่จำเลย และให้โจทก์จดทะเบียนเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 หากโจทก์ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องเดิมของโจทก์ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 108 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองคันทรง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด เป็นทรัพย์มรดกของนายติ๋งหรือติ่ง ห้ามจำเลยขัดขวางการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ ให้จำเลยไปเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินพิพาท กับห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับการรังวัดขอออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาทต่อไป หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องเดิมทั้งสองศาล และฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า นายติ๋งหรือติ่ง บิดาโจทก์มีภริยา 2 คน คือ นางห้อย กับนางห้อง โจทก์เป็นบุตรที่เกิดกับนางห้อย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 8 คน ส่วนนายอวย บิดาจำเลยเป็นบุตรของนายติ๋งที่เกิดกับนางห้อง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน นายติ๋งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2522 โดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 108 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองคันทรง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด เนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 37 หมู่ที่ 1 ตำบลหนองคันทรง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด เนื้อที่ 3 งาน 20 ตารางวา วันที่ 25 พฤษภาคม 2552 ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายติ๋งตามสำเนาคำสั่ง วันที่ 30 กรกฎาคม 2552 โจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินทั้งสองแปลงในฐานะผู้จัดการมรดกของนายติ๋ง นายอวยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 วันที่ 4 กรกฎาคม 2555 โจทก์ขอรังวัดออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาท และนำเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ไปรังวัดที่ดินพิพาทวันที่ 24 ธันวาคม 2555 แต่จำเลยซึ่งครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาทคัดค้านไม่ยอมให้รังวัดอ้างว่าเป็นของนายอวย ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำ วันที่ 3 มกราคม 2556 โจทก์ขอยกเลิกคำขอออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาท
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงวินิจฉัยอีกว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายติ๋งนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้จำเลยฎีกาว่า ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายติ๋งหรือไม่ ยุติไปแล้วตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยคู่ความมิได้อุทธรณ์คัดค้าน แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กลับวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวอีก จึงเป็นการพิพากษาไปโดยไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้จำเลยชนะคดีในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะตั้งประเด็นส่วนที่จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาในคำแก้อุทธรณ์ได้ ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายติ๋งซึ่งจำเลยก็ได้โต้แย้งแก้อุทธรณ์ไว้ในข้อ 2 ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนายติ๋ง ไม่อาจนำไปแบ่งปันให้ทายาท ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตั้งประเด็นในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายติ๋งหรือไม่ กับฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายติ๋งจึงชอบแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง เป็นไปตามประเด็นที่เกิดจากฟ้องแย้งของจำเลยและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและเป็นการไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกขอรังวัดออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาท แต่จำเลยคัดค้านการรังวัด โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้บังคับจำเลยไปเพิกถอนคำคัดค้าน ส่วนการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง นั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีการแย่งการครอบครองที่ดินกันและฝ่ายที่ถูกแย่งการครอบครองประสงค์จะเอาที่ดินคืน จึงต้องฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่คดีนี้จำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินเป็นมรดกของนายติ๋งซึ่งตกทอดแก่ทายาทและจำเลยแย่งการครอบครองมาจากทายาทคนอื่นจนได้สิทธิการครอบครองแล้วแต่อย่างใด หากแต่ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนายติ๋ง ไม่อาจนำไปแบ่งปันให้ทายาทได้ เพราะนายติ๋งยกให้นายอวยบิดาจำเลยตั้งแต่นายติ๋งยังมีชีวิตอยู่ เท่ากับอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายอวยและตกทอดมาเป็นของจำเลย โดยนายอวยและจำเลยมิได้แย่งการครอบครองมาจากผู้ใด คดีจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่น ไม่อาจแย่งการครอบครองในที่ดินซึ่งตนเองมีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของได้ แม้ภายหลังที่โจทก์มีหนังสือแจ้งให้ทายาทและนายอวยไปตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายติ๋ง นายอวยได้มีหนังสือไปถึงโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนายติ๋งที่จะต้องนำไปแบ่งปันให้ทายาท ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 เพราะจำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายติ๋ง การโต้แย้งตามหนังสือของนายอวยดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเอาคืนการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า การขอออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาทมิได้เป็นการดำเนินการเพื่อการจัดการมรดกหรือการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า การขอรังวัดออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาทจากเดิมที่เป็นที่ดินมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเป็นเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ย่อมจะทำให้ทราบแนวเขตและเนื้อที่ของที่ดินได้แน่นอนชัดเจน ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทนั้นเอง แต่ถูกจำเลยขัดขวางอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายติ๋งหรือไม่ ฎีกาของจำเลยทุกข้อดังกล่าวข้างต้นล้วนฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาในข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาห้ามมิให้จำเลยขัดขวางการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์เป็นการพิพากษาที่เกินคำขอ และโจทก์ขอยกเลิกคำขอออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาทแล้ว คำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยไปเพิกถอนคำคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินไม่อาจบังคับได้นั้น เห็นว่า โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยไปเพิกถอนคำคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินและห้ามจำเลยคัดค้านหรือยุ่งเกี่ยวกับการรังวัดออกโฉนดที่ดินเท่านั้น โดยมิได้มีคำขอห้ามจำเลยขัดขวางการแบ่งปันมรดกของโจทก์ในกรณีอื่นด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาห้ามจำเลยขัดขวางการแบ่งปันมรดกของโจทก์จึงเกินคำขอ และเมื่อโจทก์ขอยกเลิกการขอออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาทแล้ว คำคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของจำเลยย่อมถูกยกเลิกไปด้วย จึงไม่มีเหตุที่จะต้องบังคับให้จำเลยไปเพิกถอนคำคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินอีก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ห้ามจำเลยขัดขวางการแบ่งปันมรดกของโจทก์และที่ให้จำเลยไปเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดขอออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาท กับห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับการรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทต่อไป หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยเสีย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งตามฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share