แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนสืบพยานเสร็จสิ้นวันที่ 29เมษายน 2539 หลังจากนั้นมีการสืบพยานจำเลยต่ออีกหลายนัดโจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2540 อ้างความพลั้งเผลอหรือผิดหลงเล็กน้อย โดยไม่ได้อ้างเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องก่อนวันชี้สองสถานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเพิ่มการเรียกร้องค่าเสียหายที่เป็นตัวเงิน หากไม่ได้ที่ดินตามฟ้องเดิมนั้น ไม่ใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ทั้งไม่ใช่เป็นการแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแก้ไขคำฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ขออ้างสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยอ้างเหตุผลว่าเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาที่จะอ้างเป็นพยานภายหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาหลังจากสืบพยานโจทก์คดีนี้เสร็จและจ่าศาลศาลชั้นต้นเพิ่งรับรองสำเนาคำพิพากษาในวันเดียวกันกับที่จำเลยยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวกรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่จำเลยไม่สามารถระบุพยานดังกล่าวก่อนหน้านี้ได้ ทั้งคำพิพากษาคดีดังกล่าวเป็นประเด็นโดยตรงกับคดีนี้ตามที่จำเลยให้การไว้ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมจึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 117477 และ 3567ร่วมกับจำเลยที่ 3 โดยปลอดจากหนี้สินและภาระผูกพันใด ๆ ถ้าจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้า ถ้าไม่ได้โฉนดที่ดินมาให้ออกใบแทน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ทำสัญญาและจดทะเบียนซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 117477 ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จากนางทองหล่อ ฟักอังกูร เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม2533 และทำสัญญาจดทะเบียนซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3567 ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จากเรือตรีพิทักษ์ภู่สีม่วง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2533 และในวันดังกล่าวโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลงที่จำเลยที่ 2 ซื้อไว้ ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2535 จำเลยที่ 2ขายที่ดินทั้งสองแปลงที่ซื้อไว้ให้แก่จำเลยที่ 3 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า มีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องภายหลังจากมีการชี้สองสถานแล้วหรือไม่ซึ่งโจทก์ฎีกาว่า คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ ถ้าศาลไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมได้ โจทก์ชอบที่จะได้รับค่าทดแทน แม้โจทก์จะได้นำสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วก็ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ศาลจึงควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามข้อยกเว้นในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2537 กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนและโจทก์สืบพยานเสร็จสิ้นวันที่ 29 เมษายน 2539 หลังจากนั้นมีการสืบพยานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่ออีกหลายนัด โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2540 อ้างความพลั้งเผลอหรือผิดหลงเล็กน้อย โดยไม่ได้อ้างเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องก่อนวันชี้สองสถานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้วให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานเว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย” การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเพิ่มการเรียกร้องค่าเสียหายที่เป็นตัวเงิน หากไม่ได้ที่ดินตามฟ้องเดิมนั้น ไม่ใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยทั้งไม่ใช่เป็นการแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง จึงเป็นการชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการที่สองมีว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังจากที่สืบพยานโจทก์เสร็จแล้วเป็นการชอบหรือไม่ ซึ่งโจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นอ้างเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมนั้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 และขัดต่อมาตรา 94 เห็นว่า จำเลยที่ 2ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วขออ้างสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม 2533 โดยอ้างเหตุผลว่าเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาที่จะอ้างเป็นพยานภายหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2540ซึ่งคำพิพากษาที่จำเลยที่ 2 อ้างเป็นพยานเพิ่มเติมนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2540 และจ่าศาลศาลชั้นต้นเพิ่งรับรองสำเนาคำพิพากษาในวันเดียวกันกับที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวกรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 2 ไม่สามารถระบุพยานสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวก่อนหน้านี้ได้ ทั้งคำพิพากษาคดีดังกล่าวเป็นประเด็นโดยตรงกับคดีนี้ตามที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ประกอบกับโจทก์คดีนี้ก็ได้ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมในวันเดียวกันนั้นด้วย และศาลชั้นต้นก็ได้อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้เช่นเดียวกัน การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ระบุพยานเพิ่มเติมจึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88วรรคสาม แล้ว หาใช่เป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 87 และขัดต่อมาตรา 94ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน…”
พิพากษายืน