แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงก่อนใช้ พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯพ.ศ.2489 และ 2490 แล้ว การที่อยู่ต่อมาย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิดจะอ้าง พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯทั้ง 2 ฉบับมาคุ้มครอง หาได้ไม่
ตึก 2 เลขที่ซึ่งอยู่ติดต่อกันแต่ฟ้องของโจทก์และสัญญาท้ายฟ้องซึ่งระบุสิ่งของซึ่งมีอยู่ในตึกรายนี้แยกเป็นคนละตึก แสดงว่าตึก 2 เลขหมายเป็นเคหะไม่มีข้อความใดๆ ที่แสดงว่าเป็นเคหะเดียวกันแม้ตึกรายนี้ติดต่อกัน ทำสัญญาฉบับเดียวกัน และกำหนดค่าเช่ารวมกัน ก็มิใช่แสดงว่าตึกที่เช่าเป็นเคหะเดียวกันเสมอไป เมื่อโจทก์แสดงไม่ได้ว่าตึกที่เช่าเป็นเคหะเดียว และมีค่าเช่าเกิน 40 บาทแล้ว ก็ต้องตกอยู่ในความคุ้มครองแห่ง พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ 2486 มาตรา 5
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่า 4 คูหาหมายเลขที่ 28/114, 30/113, 42/107, 12/52 จำเลยให้การต่อสู้ว่าได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันศาลชั้นต้นเห็นว่าห้องเลขที่ 28/114, 30/113, 12/52 จำเลยใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯส่วนห้องเลขที่ 42/107 ไม่มีสภาพเป็นที่อยู่อาศัย ไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พิพากษาขับไล่จำเลยออกจากห้องเลขที่ 42/107 กับให้ชำระค่าเช่าจนกว่าจะออกจากห้องที่เช่านอกนั้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ จำเลยฎีกา
สำหรับฎีกาของจำเลยนั้นศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาเช่าห้องเลขที่ 42/107 สิ้นสุดลงก่อนใช้พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ พ.ศ. 2489, 2490 แล้ว การที่จำเลยอยู่ต่อมาเป็นการอยู่โดยละเมิด จะอ้างพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ ทั้ง 2 ฉบับมาคุ้มครองไม่ได้
สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า ตึกเลขที่ 28/114 กับ 30/113 ตึก 2 เลขที่นี้ติดต่อเป็นเคหะเดียวกัน และทำสัญญาฉบับเดียวกันมีอัตราค่าเช่าเดือนละ 42 บาท จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ 2486 มาตรา 5 บัญญัติให้ความคุ้มครองการเช่าเคหะซึ่งมีอัตราค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 40 บาทสำหรับเคหะหนึ่งแต่ในคดีนี้ตามฟ้องของโจทก์และสัญญาซึ่งระบุสิ่งของซึ่งมีอยู่ในตึกรายนี้แยกออกเป็นคนละตึก แสดงว่าตึก 2 หมายเลขนี้เป็น 2 เคหะ ไม่มีข้อความใด ๆ ที่แสดงว่าเป็นเคหะเดียวกันเลย ข้อที่ว่าตึกรายนี้ติดต่อกัน ทำสัญญาฉบับเดียวกันและกำหนดค่าเช่ารวมกัน มิใช่เป็นข้อแสดงว่าตึกที่เช่าเป็นเคหะเดียวกันเสมอไป เมื่อโจทก์ไม่แสดงว่า ตึกที่เช่าเป็นเคหะเดียวและมีค่าเช่าเกิน 40 บาทแล้ว โจทก์ไม่มีทางชนะคดี
พิพากษายืน