คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้จัดการทรัพย์มรดกต้องจัดการร่วมกัน ผู้จัดการแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อศาลตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ที่ 2 จะลงชื่อฎีกาแต่ผู้เดียวย่อมไม่ได้ เพราะการดำเนินคดีเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมรดก
หนังสือมอบอำนาจยึดทรัพย์นั้น รูปลักษณะและความประสงค์มุ่งไปในทางมอบอำนาจจัดการทางธุระการจึงไม่มีผลเป็นการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีที่เกิดข้อพิพาทขึ้นในศาลแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีขัดทรัพย์ทั้ง 5 สำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณา

เดิมโจทก์ชนะคดีจำเลยชั้นบังคับคดีโจทก์นำยึดที่ดินอ้างว่าเป็นของจำเลยผู้ร้องทั้ง 5 สำนวนจึงร้องขัดทรัพย์ขอให้ศาลสั่งถอนการยึด

ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ร้องขัดทรัพย์ได้รับซื้อที่ดินโดยมีค่าตอบแทนและจดทะเบียนโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าผู้ร้องรับโอนโดยไม่สุจริต พิพากษาให้ถอนการยึด

นางศรไกรรณรงค์ โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดก

โจทก์ทั้งสองจึงต้องกระทำร่วมกัน นางศรไกรรณรงค์แต่ผู้เดียวจึงไม่มีอำนาจยื่นอุทธรณ์ พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ในชั้นฎีกานางศรไกรรณรงค์ โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อในฎีกาแต่ผู้เดียวอีก แต่การดำเนินคดีเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมรดก และผู้จัดการมรดกเป็นผู้ทำการแทนกองมรดกฉะนั้น ในกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1715 จึงบัญญัติเป็นหลักไว้ว่า ผู้จัดการแต่ละคนจะจัดการไปโดยลำพังไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่ผู้จัดการมรดกคนอื่นไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการและมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว ซึ่งในคดีนี้โจทก์ที่ 2 ก็หาได้แสดงไม่ว่าโจทก์ที่ 1ไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการอย่างใดไม่

ศาลฎีกาได้ตรวจหนังสือมอบอำนาจตามที่โจทก์ที่ 2 กล่าวอ้างนั้นแล้ว ปรากฏว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจยึดทรัพย์ทำต่อกองหมายกระทรวงยุติธรรม รูปลักษณะและความประสงค์มุ่งไปในทางมอบอำนาจจัดการทางธุระการอันเกี่ยวแก่การยึดทรัพย์เท่านั้น หนังสือนี้เป็นแบบพิมพ์ของกองหมาย กระทรวงยุติธรรม และเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้สั่งอนุญาต ฉะนั้นจึงไม่มีผลเป็นการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีที่เกิดข้อพิพาทขึ้นในศาล เมื่อคำฟ้องฎีกานี้มีแต่นางศรไกรรณรงค์โจทก์ที่ 2 ฎีกาขึ้นมาแต่ผู้เดียว ก็ย่อมเป็นฎีกาที่ทำขึ้นมาโดยปราศจากอำนาจ ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1715ดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีให้ไม่ได้

พิพากษาให้ยกฎีกาเสีย

Share