คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7349/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิมโจทก์เคยใช้ทางเดินตามแนวริมคลองขวางออกไปสู่ถนนสาธารณะ แต่เมื่อทางดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นทางแล้วโจทก์จึงเปลี่ยนมาใช้ทางพิพาทซึ่งเป็นทางในโครงการของจำเลย จำเลยก็กลับก่อกำแพงปิดกั้นเสียอีกจึงต้องถือว่าที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ซึ่งโจทก์เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมมีสิทธิผ่านทางพิพาทไปสู่ทางสาธารณะได้ ถึงแม้ทางออกซึ่งเป็นทางเดิมนั้นจะไม่มีลักษณะดังบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสองกล่าวคือ ต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากก็ตาม ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและโจทก์มีสิทธิใช้ได้โดยชอบโจทก์จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อจำเลย จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ แต่โจทก์ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยเป็นเงินรายปี ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจึงต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวังโดยคำนึงถึงผลเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วย ปรากฏว่าเดิมโจทก์เคยใช้ทางเลียบริมคลองขวางมีความกว้างเพียง 1.50 เมตรการที่โจทก์มาขอใช้ทางจำเป็นมีความกว้างถึง 2.50 เมตรจึงเกินความจำเป็นไป สมควรกำหนดให้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นมีความกว้าง 1.50 เมตร เท่าทางเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสี่ที่ระบุว่า ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนนจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้นั้น หมายความว่าผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นอาจชำระค่าทดแทนเป็นค่าเสียหายเพราะสร้างถนนครั้งเดียวหรืออาจชำระค่าทดแทนเป็นรายปีก็ได้ หาใช่ว่าเมื่อจำเลยได้รับประโยชน์อย่างอื่นแล้วโจทก์ผู้ใช้ทางจำเป็นก็ไม่ต้องชำระค่าทดแทนให้แก่จำเลยอีกไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตกว้าง 3 เมตร ที่จำเลยสร้างปิดกั้นแนวประตูทางออกจากบ้านของโจทก์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 16797ตำบลบางบำหรุ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครให้โจทก์ใช้ถนนในที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์ดำเนินการเอง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินของโจทก์มีทางออกถึงทางสาธารณะได้จำเลยไม่เคยตกลงกับโจทก์ให้ใช้ถนนในที่ดินของจำเลย การที่โจทก์ใช้ถนนของจำเลยทำให้ลูกค้าของจำเลยไม่ได้รับความสะดวก จึงเป็นการละเมิดต่อจำเลยคิดค่าเสียหายเดือนละ 100,000 บาท ส่วนที่จำเลยก่อสร้างกำแพงตามแนวเขตที่ดินของจำเลย เนื่องจากโจทก์ใช้รถยนต์ผ่านถนนในที่ดินของจำเลยจำเลยจึงมีสิทธิปิดกั้นหากจะต้องเปิดทางให้โจทก์ก็ไม่ควรกว้างเกิน 1 เมตร โจทก์ไม่ได้เสนอค่าทดแทนให้แก่จำเลยขอให้ยกฟ้องและขอให้ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องและใช้ถนนในที่ดินของจำเลยและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเดือนละ100,000 บาท นับจากวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 จนกว่าโจทก์และบริวารจะไม่เกี่ยวข้องกับที่ดินของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์ใช้ถนนในที่ดินของจำเลย โดยโจทก์ไม่เคยจอดรถกีดขวางถนนในที่ดินของจำเลย เพียงแต่ผ่านเข้าออกเท่านั้นไม่ทำให้ลูกค้าของจำเลยไม่ได้รับความสะดวก ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตของจำเลยที่สร้างปิดกั้นทางออกของบ้านโจทก์ โดยให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า1.50 เมตร และยอมให้โจทก์กับบริวารใช้ทางบนที่ดินดังกล่าวของจำเลยเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โดยโจทก์ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยเป็นเงินรายปี ปีละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปด้วย ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ดังนั้นที่จำเลยอ้างว่ายังมีทางเลียบคลองขวางที่โจทก์ใช้ได้อยู่นอกจากจะขัดต่อภาพถ่ายซึ่งเป็นพยานเอกสารที่จำเลยอ้างเองแล้วยังขัดต่อรายงานการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้น และต้องถือว่าทางเลียบคลองขวางซึ่งโจทก์ใช้มาแต่เดิมไม่มีสภาพเป็นทางต่อไปแล้ว ทั้งทางพิพาทจำเลยก็ก่อกำแพงปิดกั้นเสียแล้วจึงต้องถือว่าที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ซึ่งโจทก์เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมมีสิทธิผ่านทางพิพาทไปสู่ทางสาธารณะได้ถึงแม้ทางออกซึ่งเป็นทางเดิมนั้นจะไม่มีลักษณะดังนั้นจะไม่มีลักษณะดังบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสอง กล่าวคือต้องข้ามสระ บึง หรือทะเลหรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากก็ตาม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของจำเลยประการต่อมาที่ว่า การที่โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นการละเมิดต่อจำเลยและจำเลยได้รับความเสียหายนั้น เมื่อกรณีฟังได้ดังวินิจฉัยมาข้างต้นว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและโจทก์มีสิทธิใช้ได้โดยชอบแล้ว โจทก์จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อจำเลย จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ในส่วนค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้แก่จำเลยเป็นเงินรายปีปีละ 1,000 บาท นั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับจำนวนค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด คงอุทธรณ์มาแต่ค่าเสียหายในเหตุละเมิดเท่านั้น จำเลยฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยได้อุทธรณ์ในส่วนนี้แล้วโดยอุทธรณ์ว่า โจทก์จะต้องใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยเดือนละ 100,000 บาทคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูอุทธรณ์ในข้อ 7 ของจำเลยแล้วไม่ปรากฏถ้อยคำโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดแต่อย่างใด มีแต่ถ้อยคำที่ว่าจำเลยจึงขอคิดค่าเสียหายจากโจทก์เดือนละ 100,000 บาท คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า ทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2.50 เมตร หรือไม่เห็นว่าทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจึงต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวังโดยคำนึงถึงผลเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วยจะเห็นได้ว่าเดิมโจทก์ใช้ทางเลียบริมคลองขวางมีความกว้างเพียง 1.50 เมตร การที่โจทก์มาขอใช้ทางจำเป็นมีความกว้างถึง 2.50 เมตร จึงเกินความจำเป็น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นมีความกว้าง 1.50 เมตร นั้นชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมามีว่าผลประโยชน์อย่างอื่นที่จำเลยได้รับจะถือว่าเป็นค่าทดแทนการใช้ทางพิพาทของโจทก์อยู่แล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องจ่ายค่าทดแทนเป็นเงินให้แก่จำเลยอีกหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าการที่โจทก์ไม่ใช้ทางเดินตรงบริเวณที่ดินเลียบริมคลองขวางแต่เปลี่ยนมาใช้ทางพิพาทแทน ย่อมทำให้จำเลยได้ประโยชน์เช่นกันโจทก์จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่จำเลยเป็นเงินรายปี ปีละ 1,000 บาท อีกนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสี่ บัญญัติถึงเรื่องค่าทดแทนไว้ว่า “ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้”ย่อมหมายความว่าผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นอาจชำระค่าทดแทนเป็นค่าเสียหายเพราะสร้างถนนครั้งเดียวหรืออาจชำระค่าทดแทนเป็นรายปีก็ได้ หาใช่เป็นเรื่องว่าเมื่อจำเลยได้รับประโยชน์อย่างอื่นแล้วโจทก์ผู้ใช้ทางจำเป็นก็ไม่จำต้องชำระค่าทดแทนให้แก่จำเลยอีกดังโจทก์อ้างไม่ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share