คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ ม. จะไม่ชอบเพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่ขณะที่ซื้อขายกันที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมือเปล่า ม. จึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อ ม.ส่งมอบที่ดินพิพาทและโจทก์เข้าครอบครองแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1378 อันเป็นการได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาด้วยการครอบครองตามกฎหมาย มิใช่เป็นการได้มาตามสัญญาซื้อขาย ม. ย่อมไม่มีหน้าที่ในทางนิติกรรมที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ม. ให้ดำเนินการเพิกถอนชื่อ ม. ออกจากโฉนดที่ดินพิพาทปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันไปดำเนินการเพิกถอนชื่อนายมาออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 16552 ตำบลกุดชมพู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี หากจำเลยทั้งสองไม่ไปดำเนินการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 146 ตำบลกุดชมพู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีชื่อนางฟอง ชาดี เป็นเจ้าของ หลังจากนางฟองถึงแก่ความตายนายมา ชาดี ซึ่งเป็นสามีได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ และทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2519 ตามเอกสารหมาย จ.5 โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงส่งมอบการครอบครองให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2519 ทางราชการได้ออกเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินพิพาทเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 416 ตำบลกุดชมพู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีชื่อโจทก์และนายมาเป็นเจ้าของร่วมกัน หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี นายมาถึงแก่ความตาย ต่อมาที่ดินพิพาทได้ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 16552 ตำบลกุดชมพู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานีมีชื่อโจทก์และนายมาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนายมาให้ดำเนินการเพิกถอนชื่อนายมาออกจากโฉนดที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับนายมาจะไม่ชอบเพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่ขณะที่ซื้อขายกันที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมือเปล่า นายมาจึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อนายมาส่งมอบที่ดินพิพาทและโจทก์เข้าครอบครองแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 และ 1378 อันเป็นการได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองตามกฎหมาย มิใช่เป็นการได้มาตามสัญญาซื้อขาย นายมาย่อมไม่มีหน้าที่ในทางนิติกรรมที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนายมาให้ดำเนินการเพิกถอนชื่อนายมาออกจากโฉนดที่ดินพิพาท ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share