แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่า ระหว่างยังมีชีวิตเจ้ามรดกมอบหมายให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรคนหนึ่งดูแลทรัพย์สินและจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินแทน เจ้ามรดกมีทรัพย์สินเป็นเงินสดและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เจ้ามรดกลงชื่อจำเลยในบัญชีเงินฝากและในโฉนดที่ดิน โดยแสดงเจตนาว่าทรัพย์สินของเจ้ามรดกนั้นจำเลยมีชื่อเพียงในฐานะผู้ครอบครองแทนเจ้ามรดกมีเจตนาที่จะแบ่งทรัพย์สินของตนให้บุตรทุกคนเท่ากันเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก และทายาทคนอื่นเรียกให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่จำเลย ครอบครองอยู่เข้ากองมรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาท แต่จำเลยปฏิเสธคำฟ้องดังกล่าวย่อมครอบคลุมรวมทั้งทรัพย์มรดกที่มีชื่อและไม่มีชื่อเจ้ามรดก มิได้จำกัดแต่เฉพาะทรัพย์ที่มีชื่อเจ้ามรดกปรากฏอยู่เท่านั้น และโดยที่ในชั้นพิจารณามีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าเงินฝากในธนาคารเป็นเงินที่เจ้ามรดกยกให้จำเลยหรือเพียงให้จำเลยจัดการแทน ซึ่งหากเป็นกรณีเพียงให้จำเลยจัดการแทน แม้บัญชีดังกล่าวจะมีจำเลยคนเดียวเป็นผู้ฝาก เงินดังกล่าวก็เป็นทรัพย์มรดกซึ่งโจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิอยู่ด้วย เมื่อพฤติการณ์ส่อแสดงว่าจำเลยอาจโอนเงินดังกล่าวไปให้พ้นจากอำนาจศาลเพื่อขัดขวางการบังคับคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้อายัดเงินฝากดังกล่าว อันเป็นวิธีการขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 255 วรรคสอง (ข) ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบเงินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางปิ่น พูลสวัสดิ์ ผู้ตายพร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่สามารถส่งมอบได้ให้บังคับจากทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากโอนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคาให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกทั้งหมดในฐานที่ปิดบังทรัพย์มรดกเกินส่วนของตนโดยตัดสิทธิไม่ให้ได้รับมรดกเลย
ระหว่างการพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอว่า โจทก์ จำเลยต่างโต้เถียงกันว่า จำเลยครอบครองดูแลทรัพย์มรดกแทนทายาทนางปิ่นเจ้ามรดกหรือไม่ และโจทก์สืบทราบว่ามีเงินสดซึ่งเป็นทรัพย์มรดกบางส่วนฝากอยู่ที่ธนาคารศรีนคร จำกัด ในนามจำเลยซึ่งโจทก์มีหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นเงินของเจ้ามรดก หากโจทก์ไม่ขออายัดไว้จำเลยอาจทำการถอนยักย้ายไปเสียได้ เพราะจำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีไปแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก และหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องแล้ว จำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีไปอีกจำนวนหนึ่งเมื่อโจทก์ชนะคดีแล้วย่อมเป็นการยากที่โจทก์และทายาทจะบังคับคดีเอาจากจำเลยได้ จึงขอให้อายัดเงินในบัญชีดังกล่าวไว้ด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารศรีนคร จำกัด ของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยให้ธนาคารระงับการจำหน่ายจ่ายโอนและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวไว้จนกว่าจะได้รับแจ้งการถอนอายัดจากศาล
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิขออายัดเงินตามบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาเพชรบุรี บัญชีเลขที่ 147-3-02327-6เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ฝากหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยอ้างว่า นางปิ่น พูลสวัสดิ์เจ้ามรดกระหว่างยังมีชีวิตอยู่ได้มอบให้จำเลยผู้เป็นบุตรคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินและจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินแทนเจ้ามรดกมากกว่าบุคคลคนอื่น ๆ เจ้ามรดกมีทรัพย์สินเป็นเงินสดและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ได้นำเงินสดฝากไว้ที่ธนาคารศรีนคร จำกัดสาขาเพชรบุรี และธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาเพชรบุรีรวม 22 บัญชีเป็นเงิน 28,633,841.48 บาท ลงชื่อจำเลยในบัญชีเงินฝากและในโฉนดที่ดิน โดยเจ้ามรดกแสดงเจตนาตลอดมาว่าทรัพย์สินของเจ้ามรดกนั้นจำเลยมีชื่อเพียงในฐานะผู้ครอบครองแทน เจ้ามรดกมีเจตนาที่จะแบ่งทรัพย์สินของตนให้บุตรทุกคนเท่ากัน ครั้นเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2536 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทคนอื่น ๆ ทวงถามให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่จำเลยครอบครองอยู่เข้ากองมรดกเพื่อแบ่งปันให้ทายาท จำเลยปฏิเสธไม่ยอมให้ความร่วมมือในการจัดการทรัพย์มรดก คำฟ้องดังกล่าวย่อมครอบคลุมรวมทั้งทรัพย์มรดกที่มีชื่อและไม่มีชื่อเจ้ามรดกด้วยมิใช่จำกัดเฉพาะทรัพย์ที่มีชื่อเจ้ามรดกปรากฏอยู่ การขออายัดเงินฝากที่ธนาคารไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาแม้ไม่มีชื่อเจ้ามรดกในบัญชีเงินฝาก หากมีเหตุน่าเชื่อว่าเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกและเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255โจทก์ย่อมมีสิทธิขออายัดได้ตามทางไต่สวนพยานโจทก์ได้ความว่าเจ้ามรดกมีบุตรรวม 6 คนตามลำดับ คือนายบุญส่ง พูลสวัสดิ์ซึ่งเสียชีวิตแล้ว จำเลย นางบุญสม อรัญญิก นางบุญศรี พูลสวัสดิ์โจทก์ และนางปัทมา อนันตลาโภชัย ระหว่างเจ้ามรดกมีชีวิตอยู่ได้มอบให้จำเลยกับนางบุญสมดูแลทรัพย์สินแทน เช่น ให้ลงชื่อนางบุญสมร่วมกับเจ้ามรดกในบัญชีเงินฝากธนาคารออมสินสาขาเพชรบุรี ตามเอกสารหมาย จ.8 ให้ลงชื่อจำเลยร่วมกับเจ้ามรดกในบัญชีเงินฝากธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาเพชรบุรีบัญชีเลขที่ 147-3-00740-8 จำนวน 4 เล่ม ตามเอกสารหมาย จ.1และปรากฏว่าได้มีการเปิดบัญชีเงินฝากในนามจำเลยคนเดียวในบัญชีเงินฝากธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาเพชรบุรีบัญชีเลขที่ 147-3-02327-6 จำนวน 4 เล่ม ตามเอกสารหมาย จ.2โดยบัญชีเงินฝากเอกสารหมาย จ.1 มีรายการเงินฝากครั้งแรกวันที่30 กรกฎาคม 2534 บัญชีเงินฝากเอกสารหมาย จ.2 มีรายการเงินฝากครั้งแรกวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 ปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่าก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายได้มีการถอนเงินจากบัญชีเอกสารหมาย จ.1นำฝากเข้าบัญชีเอกสารหมาย จ.2 โดยการถอนและการฝากกระทำในวันเดียวกัน รวมทั้งสิ้น 14 ครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน2534 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2535 โดยจำนวนเงินถอนและเงินฝากส่วนใหญ่จำนวนตรงกัน มีเพียงบางรายการที่จำนวนเงินฝากมากกว่าถอนออกรวม 14 ครั้งเป็นเงินที่ถอนจากบัญชีหมาย จ.1 รวมเป็นเงิน21,628,486.62 บาท ส่วนเงินฝากเข้าบัญชีหมาย จ.2 รวมเป็นเงิน21,795,515.01 บาท ตามเอกสารหมาย จ.7 ครั้นเจ้ามรดกถึงแก่ความตายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2536 แล้วต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2536ยังได้มีการนำใบถอนเงินซึ่งมีลายมือชื่อเจ้ามรดกลงชื่อร่วมกับจำเลยในช่องเจ้าของบัญชีและในช่องผู้รับเงินมาถอนเงินและปิดบัญชีเอกสารหมาย จ.1 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 นอกจากนี้ยังปรากฏว่าภายหลังโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว ในวันที่ 16 สิงหาคม 2537จำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีเอกสารหมาย จ.2 จำนวน 4,364,219.18บาท รูปคดีมีเหตุน่าเชื่อว่าเจ้ามรดกรักและเชื่อถือจำเลยโดยลงลายมือชื่อใบถอนเงินมอบให้จำเลยไว้ดำเนินการเกี่ยวกับการเงินคดีนี้ยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยในชั้นพิจารณาว่า เงินในบัญชีเอกสารหมาย จ.2 เป็นเงินที่เจ้ามรดกยกให้จำเลยหรือเพียงให้จำเลยจัดการแทน หากเป็นกรณีเพียงให้จำเลยจัดการแทน แม้บัญชีดังกล่าวมีชื่อจำเลยคนเดียวเป็นผู้ฝากเงินดังกล่าวก็เป็นทรัพย์มรดกซึ่งโจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิร่วมกับจำเลยรูปคดีและพฤติการณ์เห็นได้ว่าจำเลยอาจโอนเงินดังกล่าวไปให้พ้นจากอำนาจศาลเพื่อขัดขวางต่อการบังคับคดี ตามคำฟ้องและโอกาสที่โจทก์ยื่นคำร้องขอนั้น มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255 วรรค 2 (ข) มาใช้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายกคำร้องขอของโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น