คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7348/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเป็นหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งสืบเนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ก่อขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่จำกัดความรับผิดต้องรับผิดในหนี้สินแทนจำเลยที่1ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1070 และ 1077 โดยไม่จำกัดจำนวนจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจต่อสู้หรือนำสืบว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หรือมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 14พฤศจิกายน 2523 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 156,237.59 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามเพิกเฉยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ คำนวณเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งค่าทนายความคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน520,944.23 บาท ปรากฏว่าไม่พบทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามที่โจทก์จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายต่อไป
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่เคยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาโจทก์ไม่ติดตามบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 เกินกำหนด 10 ปี ขาดอายุความถือได้ว่าเป็นเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย และจำเลยที่ 2ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า จำเลยที่ 2มีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท พอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 และฎีกาข้อหลังว่า จำเลยที่ 2 มีอำนาจต่อสู้คดีและนำสืบว่า จำเลยที่ 2ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 7 ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาข้อหลังที่ว่า จำเลยที่ 2มีอำนาจต่อสู้คดีและนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ก่อน พิเคราะห์แล้ว หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งสืบเนื่องจากจำเลยที่ 1 ก่อขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่จำกัดความรับผิด ต้องรับผิดในหนี้สินแทนจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077โดยไม่จำกัดจำนวนอยู่ จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจต่อสู้หรือนำสืบว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หรือมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 7กรณีมีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะต้องล้มละลายตามฟ้อง เมื่อได้วินิจฉัยฎีกาข้อหลังของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวแล้วจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาฎีกาข้อแรกของจำเลยที่ 2 อีก
พิพากษายืน

Share