คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องตั้งแต่วันทำหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่ที่พิพาทมีข้อบังคับห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ผู้คัดค้านได้รับโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 แสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ทางราชการจัดให้ราษฎรทำกินบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนาจะปกป้องราษฎรให้มีที่ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี และภายในระยะเวลาดังกล่าวทางราชการได้ควบคุมที่ดินนี้อยู่ ยังไม่ปล่อยให้เป็นสิทธิเด็ดขาดแก่ผู้คัดค้านจึงไม่อาจสละหรือโอนการครอบครองที่ดินตามหนังสือสัญญาซื้อขายให้แก่ผู้ร้องได้ ทั้งผู้ร้องจะเอาระยะเวลาการครอบครองซึ่งอยู่ภายในข้อบังคับห้ามโอนกรรมสิทธิ์มารวมคำนวณเป็นระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 หาได้ไม่

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เมื่อปี 2521 ผู้ร้องซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 801 จากนายใบ โชคชัย ในราคา 50,500 บาท โดยมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่นายใบมอบที่ดินให้ผู้ร้องครอบครองและผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวมาโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านติดต่อกันมาเกินกว่า 10 ปี แล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าว
ผู้คัดค้านยื่นคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 801 ผู้คัดค้านไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง เพียงแต่ผู้คัดค้านได้กู้ยืมเงินจากผู้ร้องไปจำนวน50,500 บาท และผู้คัดค้านยอมให้ผู้ร้องทำกินในที่ดินพิพาทต่างดอกเบี้ยเท่านั้น ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 801 ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกคำร้องขอ
ผู้ร้องฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 801 ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกให้แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2519 และได้ระบุไว้ในโฉนดที่ดินว่าที่ดินแปลงนี้ตกอยู่ในข้อบังคับห้ามโอนสิบปีตามมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 334 ข้อ 6 เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก ปัญหาวินิจฉัยมีว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทถึงกำหนด 10 ปี ตามคำร้องขอหรือไม่ ผู้ร้องนำสืบว่า ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามหนังสือสัญญาซื้อขายซึ่งผู้คัดค้านได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง นับถึง พ.ศ. 2534 เป็นเวลา 13 ปีแล้วเห็นว่า แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2521 ว่าผู้คัดค้านได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องตั้งแต่วันทำหนังสือซื้อขาย แต่ที่ดินพิพาทมีข้อบังคับห้ามโอนภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ผู้คัดค้านได้รับโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 31 แสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ทางราชการจัดให้ราษฎรทำกินบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนาจะปกป้องราษฎรให้มีที่ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี และภายในระยะเวลาดังกล่าวทางราชการได้ควบคุมที่ดินนั้นอยู่ ยังไม่ปล่อยให้เป็นสิทธิเด็ดขาดแก่ผู้ครอบครองจนกว่าจะพ้นระยะเวลาที่มีข้อบังคับห้ามโอนซึ่งจะครบกำหนดในวันที่6 พฤษภาคม 2529 ดังนั้นผู้คัดค้านจึงไม่อาจสละหรือโอนการครอบครองที่ดินตามหนังสือสัญญาซื้อขายให้แก่ผู้ร้องได้ ผู้ร้องจะเอาระยะเวลาการครอบครองซึ่งอยู่ภายในข้อบังคับ ห้ามโอนกรรมสิทธิ์มารวมคำนวณเป็นระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หาได้ไม่ หากจะฟังว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากครบกำหนดห้ามโอนตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2529ถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอ คือวันที่ 5 สิงหาคม 2534 ก็ยังไม่ถึง 10 ปี ผู้ร้องจึงไม่มีทางที่จะได้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามคำร้องขอได้ ปัญหาอื่นตามฎีกาผู้ร้องจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share