คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 949/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1584 เดิม ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ประกอบกับพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478มาตรา 22 บัญญัติแต่เพียงว่าการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสเท่านั้น ไม่ได้บังคับว่าจะต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเอง โจทก์ยอมรับว่าทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเป็นเอกสารราชการ เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนยืนยันว่าทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเป็นเอกสารที่ถูกต้องเอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารมหาชนเมื่อโจทก์สืบไม่ได้ว่าเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์อย่างไร ต้องถือว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องสมบูรณ์ รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ฟังได้ว่าโจทก์ได้ให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมตามทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมแล้ว โจทก์ฎีกาว่าศาลชั้นต้นสั่งตัดพยานสำคัญของโจทก์ทำให้โจทก์เสียเปรียบในการต่อสู้คดีซึ่งโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านไปแล้วโจทก์อุทธรณ์ประเด็นข้อนี้ต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้อนี้เพราะไม่อาจทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงไปได้ ฎีกาของโจทก์ไม่ได้คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรศาลอุทธรณ์จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้อนี้อย่างไร ฎีกาของโจทก์จึงไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนาวาตรีหญิงอำไพวงศ์ โหประพัฒน์ นาวาตรีหญิงอำไพวงศ์ ได้จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมโดยปลอมลายมือชื่อของโจทก์เพื่อแสดงแก่นายทะเบียนว่า โจทก์ในฐานะคู่สมรสได้ให้ความยินยอมแล้ว ซึ่งความจริงโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม ต่อมานาวาตรีหญิงอำไพวงศ์ถึงแก่ความตายทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับทรัพย์สินทั้งหมดของนาวาตรีหญิงอำไพวงศ์แต่ผู้เดียว ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมของนาวาตรีหญิงอำไพวงศ์ และให้จำเลยกลับคืนสู่สถานะเดิม
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้รับบุตรบุญธรรมโจทก์ให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม คดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้น หากผู้รับบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสคู่สมรสจะต้องให้ความยินยอมในการจดทะเบียนโดยมีลายมือชื่อของคู่สมรสอย่างชัดเจนจึงจะมีผลสมบูรณ์และมีแบบพิมพ์ ค.ร.13ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในการรับบุตรบุญธรรมทุกคนจะต้องลงลายมือชื่อในด้านหลังนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1584เดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ประกอบกับพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 22 บัญญัติแต่เพียงว่าการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสเท่านั้น ไม่ได้บังคับว่าจะต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเอง คดีนี้โจทก์เบิกความยอมรับว่าทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.3 เป็นเอกสารราชการซึ่งเจ้าพนักงานได้บันทึกไว้ด้านหลังเอกสารฉบับนี้มีใจความว่า วันนี้ร้อยโทหญิงอำไพวงศ์ โหประพัฒน์ มายื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับเด็กหญิงพรรณภา ไทยตรง เป็นบุตรบุญธรรมโดยมีเรือโทประพันธ์ โหประพัฒน์ คู่สมรสมาให้ความยินยอมในด้านหลังค.ร.13 แล้ว และนางวันทนา บุนนาค เจ้าหน้าที่ปกครอง 4 มีหน้าที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมประจำที่ว่าการเขตบางกอกใหญ่ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำการจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมาย จ.3หรือ ล.3 เบิกความว่าทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมาย ล.3เป็นเอกสารที่ถูกต้อง โดยที่ว่าการเขตบางกอกใหญ่ เป็นผู้รับรองว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้อง ด้านหลังของทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมาย ล.3 มีบันทึกการให้ความยินยอมของเรือโทประพันธ์โหประพัฒน์ สามีของเรือโทหญิงอำไพวงศ์อยู่ด้วย โดยผู้บันทึกเป็นเจ้าหน้าที่ของที่ว่าการเขตบางกอกใหญ่บันทึกว่าเรือโทประพันธ์ โหประพัฒน์ คู่สมรสมาให้ความยินยอมในด้านหลัง ค.ร.13แล้ว เพราะก่อนที่เจ้าหน้าที่ของที่ว่าการเขตบางกอกใหญ่จะบันทึกด้านหลังของเอกสารหมาย ล.3 ดังกล่าวนั้น จะต้องมีคำร้องให้ความยินยอมของคู่สมรสก่อน แล้วเจ้าหน้าที่จึงบันทึกลงไป และคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนและใบสำคัญการสมรสมาด้วยเพื่อให้นายทะเบียนตรวจสอบ เหตุด้านหลังของที่บันทึกการให้ความยินยอมของคู่สมรสเอกสารหมาย ล.3 ไม่มีลายมือชื่อของคู่สมรสผู้ให้ความยินยอมด้วยเนื่องจากในทางปฏิบัติคู่สมรสจะให้ความยินยอมในเอกสารอีกฉบับหนึ่ง เห็นว่านอกจากโจทก์ยอมรับว่าทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.3 เป็นเอกสารราชการแล้ว นางวันทนาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมยังยืนยันว่าทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.3 เป็นเอกสารที่ถูกต้อง เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารมหาชน เมื่อโจทก์สืบไม่ได้ว่าเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์อย่างไร ต้องถือว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องสมบูรณ์ รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ กรณีฟังได้ว่าโจทก์ได้ให้ความยินยอมในการที่นาวาตรีหญิงอำไพวงศ์ โหประพัฒน์ จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมตามทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.3แล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์ฎีกาว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งตัดพยานสำคัญของโจทก์ทำให้โจทก์เสียเปรียบในการต่อสู้คดีซึ่งโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านไปแล้วนั้น โจทก์อุทธรณ์ประเด็นข้อนี้ต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้อนี้เพราะไม่อาจทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงไปได้ เห็นว่าฎีกาของโจทก์ข้อนี้ไม่ได้คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้องอย่างไร ศาลอุทธรณ์จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้อนี้อย่างไรฎีกาของโจทก์จึงไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share