แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่3ขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยที่3จึงไม่อาจยกข้อต่อสู้ซึ่งเป็นข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยที่1และที่2ชั้นฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่3 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ต้องแบ่งค่านายหน้าให้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน280,000บาทแต่พิพากษาให้โจทก์แบ่งค่านายหน้าให้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน288,000บาทเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการพิมพ์ผิดพลาดศาลอุทธรณ์พิพากษายืนศาลฎีกาชอบที่แก้ไขข้อผิดพลาดนี้เสียให้ถูกต้องโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา143
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1089, 59839, 25832 และ 59345 ตำบลบางบอนอำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ในราคา 12,909,000 บาทสัญญาให้ค่าบำเหน็จแก่โจทก์ 5 เปอร์เซ็นต์ของราคาที่ดินดังกล่าวและหากโจทก์ชี้ช่องให้จำเลยทั้งสามขายที่ดินได้เกินกว่าราคา12,909,000 บาท จำเลยทั้งสามยอมให้ราคาที่ดินส่วนที่เกินนั้นเป็นค่าบำเหน็จนายหน้าแก่โจทก์ด้วย วันที่ 13 ตุลาคม 2531 โจทก์ชี้ช่องให้นายกำพล พินิจโสภณพรรณ ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสี่แปลง กับจำเลยทั้งสามได้สำเร็จในราคา 13,994,500 บาทนายกำพลชำระเงินมัดจำ 2,000,000 บาท กำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์วันที่ 13 ธันวาคม 2531 วันดังกล่าวจำเลยทั้งสามฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ว่า นายกำพลผิดสัญญาพร้อมกับบอกเลิกสัญญานายหน้าต่อโจทก์แล้วจำเลยทั้งสามร่วมสมคบกับนายกำพลไปทำการจดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้งสี่แปลง ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางขุนเทียน เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2531และได้รับเงินค่าที่ดินจากนายกำพลครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ชำระค่าบำเหน็จนายหน้า 5 เปอร์เซ็นต์ ของราคาที่ดิน12,909,000 บาท คิดเป็นเงิน 645,450 บาท เงินค่าที่ดินส่วนที่เกิน 12,909,000 บาท จำนวน 1,085,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี หักเงิน 100,000 บาท ที่โจทก์รับชำระจากจำเลยทั้งสามออกแล้วเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามต้องชำระแก่โจทก์จำนวน 1,630,950 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าบำเหน็จนายหน้า1,630,950 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ยังมีหน้าที่ชำระเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ค่าอากรแสตมป์ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 100,000 บาท จึงขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับโจทก์คืนเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา นางสมบุญ มีวอน ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเป็นฝ่ายที่สามเพื่อรับความคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ในฐานะเป็นนายหน้าร่วมกับโจทก์ในการชี้ช่องขายที่ดินของจำเลยทั้งสามให้แก่นายกำพล จนจำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่นายกำพลแล้ว ผู้ร้องมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งค่าบำเหน็จนายหน้าจำนวน 280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2531 เป็นต้นไปขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ค่าบำเหน็จนายหน้าพร้อมดอกเบี้ยคำนวณถึงวันยื่นคำร้องเป็นเงิน285,774 บาท แก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางสมบุญร้องสอดเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามและกำหนดให้โจทก์ จำเลยทั้งสามให้การแก้คำร้องสอด
โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การแก้คำร้องสอด
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การแก้คำร้องสอดและฟ้องแย้งขอให้ยกคำร้องสอดและให้ผู้ร้องสอดชดใช้เงินจำนวน 50,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าผู้ร้องสอดจะชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ครบถ้วน
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การแก้คำร้องสอด
ผู้ร้องสอดให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่โจทก์จำนวน 1,530,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วน คำขออื่นให้ยก ให้โจทก์แบ่งค่าบำเหน็จนายหน้าแก่ผู้ร้องสอดเป็นเงิน288,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกข้อต่อสู้ดังกล่าวซึ่งเป็นข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขึ้นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3
จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าตามสัญญานายหน้าเอกสารหมาย ล.1หรือไม่ ปัญหานี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วเชื่อว่าการจดทะเบียนขายที่ดินทั้งสี่แปลงระหว่างจำเลยทั้งสามผู้ขายกับนายกำพลผู้ซื้อในวันที่ 22 ธันวาคม 2531 เป็นผลมาจากการชี้ช่องของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้ทำหน้าที่นายหน้าแล้วมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าเต็มตามสัญญานายหน้าเอกสารหมาย ล.1ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดใช้ค่าบำเหน็จนายหน้าจำนวน 1,530,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อนึ่ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ต้องแบ่งค่านายหน้าให้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน 280,000 บาท แต่พิพากษาให้โจทก์แบ่งค่านายหน้าให้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน 288,000 บาท เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการพิมพ์ผิดพลาดไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาชอบที่แก้ไขข้อผิดพลาดนี้เสียให้ถูกต้องโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 3 และแก้เป็นว่า ให้โจทก์แบ่งค่าบำเหน็จนายหน้าแก่ผู้ร้องสอดเป็นเงิน 280,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์