แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สำนวนคดีที่สองและที่สามที่โจทก์ในสำนวนแรกเป็นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินของกลางรวม 4 รายการ ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 30, 31 นั้น ศาลชั้นต้นได้ประกาศหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวมายื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดีแล้ว แต่ไม่มีผู้ใดยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามา รวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินทั้งสี่รายการให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าว จึงมิใช่คู่ความ ไม่อาจยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อมาในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และฎีกาในส่วนนี้และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหานี้ให้นั้น ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำพิพากษาและคำสั่งรวมกัน
สำนวนคดีแรก โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 92 ริบเมทแอมเฟตามีนกับกระเป๋าหูหิ้วของกลาง เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ตามกฎหมาย โดยให้นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีข้างต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ และจำเลยที่ 3 ยังรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
สำนวนคดีที่สองและที่สาม โจทก์ในสำนวนคดีแรกเป็นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินทั้งสี่รายการให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 27, 29, 30, 31
ศาลชั้นต้นสั่งให้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดี ไม่ปรากฏมีผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิพากษาและมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 30, 31 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 และที่ 3 และเมื่อศาลลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตแล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้อีก จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำให้การในชั้นสอบสวนรวมทั้งทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละตลอดชีวิต ส่วนคำขอให้นับโทษของจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 877/2546 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ นั้น เนื่องจากศาลยังมิได้พิพากษาคดีดังกล่าว จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ริบเมทแอมเฟตามีนกับกระเป๋าหูหิ้ว 2 ใบ ของกลาง และริบรถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 30 – 0610 ชลบุรี โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย หมายเลข 0 7154 1358 หมายเลข 0 6165 5534 และซิมการ์ดโทรศัพท์หมายเลข 0 9759 9447 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ พันตำรวจโทไชยยา กับพวกจับกุมจำเลยทั้งสามกับนายสมชายได้ภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงคอสโม่ริมถนนแม่จัน ตำบลเวียงพาคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมกับยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 200,000 เม็ด แยกบรรจุอยู่ในกระเป๋าหูหิ้ว 2 ใบ ใบละ 100,000 เม็ด กับยึดรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 30 – 0610 ชลบุรี ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับและมีนายสมชายเป็นพนักงานประจำรถ ยึดรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียนป้ายแดง จ – 5758 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับและมีจำเลยที่ 2 นั่งคู่มาด้วย กับยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 อัน ไว้เป็นของกลาง กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสามกับนายสมชายร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และใช้รถยนต์โดยสารกับโทรศัพท์เคลื่อนที่และซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นอุปกรณ์เพื่อให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม แต่ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงเป็นสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางคดีนี้ให้แก่ร้อยตำรวจเอกบุญสนองและดาบตำรวจกิตติชัย เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามซึ่งจำเลยที่ 1 เคยเป็นสายลับให้ก่อนเกิดเหตุคดีนี้มาแล้วรวม 3 ครั้ง จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนายึดถือเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อตน เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะเบิกความยืนยันถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อร้อยตำรวจเอกบุญสนองกับดาบตำรวจกิตติชัยพยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพยานหมายกลับมิได้เบิกความรับรอง เนื่องจากไม่ได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 ในระหว่างนั้น จำเลยที่ 1 ก็มิได้บอกเหตุผลที่ไม่ได้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้ติดต่อกันเป็นประจำติดตัวไปด้วย จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ถูกจับกุม พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 3 มีอาชีพขับรถยนต์โดยสารเพื่อรับส่งนักท่องเที่ยวในกิจการโดยปกติวิสัย จำเลยที่ 3 มิได้เปิดดูกระเป๋าหูหิ้วที่จำเลยที่ 1 นำมามอบให้ จำเลยที่ 3 ไม่ทราบเรื่องในการรับส่งเมทแอมเฟตามีนของกลางคดีนี้ จำเลยที่ 3 จอดรถยนต์โดยสารเพื่อตรวจเช็ครถยนต์ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้าง เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้เปิดดูกระเป๋าหูหิ้วที่จำเลยที่ 1 มอบให้นำไปเก็บไว้ในช่องเก็บสัมภาระใต้รถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 3 ขับมาจอดก็ตาม แต่พันตำรวจโทไชยยา พันตำรวจโททนัย และสิบตำรวจโทสรัญ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 3 เบิกความสอดคล้องต้องกันได้ความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 พูดคุยกันแล้วจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะมาจอดทางด้านซ้ายของรถยนต์โดยสาร จำเลยที่ 3 เดินมาที่ท้ายรถยนต์โดยสารปรับอากาศเปิดประตูช่องเก็บสัมภาระด้านซ้าย ส่วนจำเลยที่ 1 เปิดประตูหลังรถยนต์กระบะนำกระเป๋าหูหิ้ว 1 ใบ มาส่งให้จำเลยที่ 3 เก็บไว้ในช่องเก็บสัมภาระที่เปิดรออยู่ ขณะนั้นจำเลยที่ 3 มิได้ขับรถยนต์โดยสารรับผู้โดยสารอยู่ จึงเป็นการจอดรถยนต์โดยสารเพื่อรับของกลางจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ทั้งเมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวนถึง 100,000 เม็ด ต้องเก็บรักษาไว้ไม่ให้สูญหายไปในระหว่างทางได้ จำเลยที่ 1 ควรต้องบอกให้จำเลยที่ 3 รู้ว่าในกระเป๋าใบนั้นบรรจุเมทแอมเฟตามีนอยู่ต้องดูแลรักษาเป็นพิเศษ จึงเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 3 รู้ว่ามีเมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่ในกระเป๋า ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับของกลางที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ริบของกลางตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เห็นว่า ในสำนวนคดีที่สองและที่สามที่โจทก์ในสำนวนแรกเป็นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินของกลางรวม 4 รายการ ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 30, 31 ศาลชั้นต้นได้ประกาศหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวมายื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดีแล้ว แต่ไม่มีผู้ใดยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามา รวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินทั้งสี่รายการให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวจึงมิใช่คู่ความ ไม่อาจยื่นอุทธรณ์และฎีกาต่อมาในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และฎีกาในส่วนนี้และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหานี้ให้นั้น ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในส่วนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับการริบทรัพย์สินของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์