คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14319/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับการปลดจากการล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 81/1 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มาตรา 13 หลังจากได้รับการปลดจากการล้มละลาย จำเลยได้ยื่นคำขอประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยขอชำระหนี้เต็มจำนวนต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. โจทก์ในคดีล้มละลาย โจทก์ในคดีล้มละลายตกลงตามข้อเสนอ ผู้ร้องจึงได้ชำระหนี้แทนจำเลย การที่จำเลยได้รับการปลดจากการล้มละลายโดยผลของกฎหมายนั้น ย่อมทำให้จำเลยหลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายและมีอำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของตนเองต่อไป ส่วนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีอำนาจในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งเป็นทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จ การที่จำเลยยื่นคำขอประนอมหนี้โดยขอชำระหนี้เต็มจำนวนให้แก่โจทก์ในคดีล้มละลาย และได้มีการชำระให้แก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมจนครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีเหตุต้องจัดการทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายของจำเลยอีกต่อไป การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดทรัพย์ในคดีแพ่งนั้นชอบแล้ว ส่วนการยกเลิกการล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 นั้นจะเกิดขึ้นก็โดยเหตุศาลมีคำสั่ง ในคดีนี้เมื่อจำเลยได้รับการปลดจากการล้มละลายอันทำให้จำเลยหลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายไปแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลจำต้องสั่งยกเลิกการล้มละลายอีก แม้โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอันเป็นหนี้ที่พึงจะขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 แต่เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวในคดีล้มละลายเกินกำหนดระยะเวลา และศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลล่างไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์ ต่อมาเมื่อจำเลยได้รับการปลดจากการล้มละลายโดยผลของกฎหมายย่อมทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ เว้นแต่หนี้ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 (1) และ (2) เมื่อหนี้ของโจทก์มิใช่หนี้ตามมาตรา 77 (1) และ (2) โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ของโจทก์อีกต่อไปและไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยอมชำระเงินจำนวน 24,200,000 บาท แก่โจทก์ แบ่งชำระเงิน 8 งวด จำเลยไม่ปฏิบัติตามยอม โจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 42446 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างบังคับคดีผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ ขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด ระหว่างพิจารณาจำเลยถูกฟ้องคดีล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2542 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยได้เข้ามาดำเนินคดีแทนลูกหนี้ (จำเลย) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องว่า ผู้ร้องมีเพียงสิทธิเฉพาะขอกันส่วนในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเท่านั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีดังกล่าวถึงที่สุด ต่อมาในคดีล้มละลายจำเลยได้รับการปลดจากการล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด เมื่อจำเลยชำระค่าธรรมเนียมในการถอนการยึดทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้แจ้งถอนการยึดทรัพย์ไปยังเจ้าพนักงานที่ดินโดยไม่แจ้งเรื่องให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว และขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการนำทรัพย์ที่ยึดออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้โจทก์
จำเลยและผู้ร้องยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกัน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยไว้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่ยังไม่ได้ดำเนินการขายทอดตลาด ระหว่างดำเนินการบังคับคดี จำเลยถูกฟ้องล้มละลาย ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 พิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2542 โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดระยะเวลา ในคดีล้มละลายดังกล่าวมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้เพียงรายเดียว ผู้ร้องจึงได้ทำการประนอมหนี้และชำระหนี้แทนจำเลยที่ประชุมเจ้าหนี้เห็นชอบด้วย ผู้ร้องจึงชำระหนี้แทนจำเลย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การชำระหนี้ของผู้ร้องแทนจำเลย เป็นการยกเลิกการล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 135 (2) หรือมาตรา 135 (3) หรือไม่ เห็นว่า ก่อนที่ผู้ร้องจะชำระหนี้แทนจำเลย จำเลยได้รับการปลดจากการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 81/1 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2547 มาตรา 13 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ตามเอกสารท้ายคำร้องของคำร้องขอวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นของทนายจำเลยฉบับลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 หลังจากจำเลยได้รับการปลดจากการล้มละลายแล้ว จำเลยได้ยื่นคำขอประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยขอชำระหนี้เต็มจำนวนต่อเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ตกลงตามข้อเสนอ ผู้ร้องจึงได้ดำเนินการชำระหนี้แทนจำเลย ตามเอกสารท้ายคำร้องขอวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นฯ การที่จำเลยได้รับการปลดจากการล้มละลาย โดยผลของกฎหมายนั้นย่อมทำให้จำเลยหลุดพ้นจากเป็นบุคคลล้มละลายและมีอำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของตนเองต่อไป ส่วนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีอำนาจในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งเป็นทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จ การที่จำเลยยื่นคำขอประนอมหนี้ โดยขอชำระหนี้เต็มจำนวนให้แก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ และได้มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมจนครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีเหตุต้องจัดการทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายของจำเลยอีกต่อไป การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดทรัพย์ในคดีแพ่งนั้นชอบแล้ว ส่วนการยกเลิกการล้มละลายนั้นพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 135 บัญญัติว่า “เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้…” เช่นนี้ การที่จะมีการยกเลิกการล้มละลายได้ก็โดยเหตุศาลมีคำสั่ง ในคดีนี้เมื่อจำเลยได้รับการปลดจากการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 81/1 แล้วอันทำให้จำเลยหลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายไปแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลจำต้องสั่งยกเลิกการล้มละลายอีก และแม้โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอันเป็นหนี้พึงจะขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 แต่เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวในคดีล้มละลายเกินกำหนดระยะเวลา และศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลล่างไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์ ต่อมาเมื่อจำเลยได้รับการปลดจากการล้มละลายโดยผลของกฎหมาย ย่อมทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ เว้นแต่หนี้ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 77 (1) และ (2) เมื่อหนี้ของโจทก์มิใช่หนี้ตามมาตรา 77 (1) และ (2) โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ของโจทก์อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share