คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7344/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การออกโฉนดที่ดินเป็นงานที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมที่ดิน เมื่อโจทก์เห็นว่าการออกโฉนดที่ดิน คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องกรมที่ดินได้ แม้ป.ที่ดิน มาตรา 61 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมโดย ป.ที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2428 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จะมีบทบัญญัติให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินสำหรับจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่กฎหมายประสงค์จะกระจายอำนาจให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดได้ด้วยเท่านั้น ไม่ได้ห้ามมิให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการออกโฉนดที่ดินฟ้องกรมที่ดินแต่อย่างใด
โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 เลขที่ 3816 ในส่วนรุกล้ำเข้ามาในโฉนดที่ดินพิพาทของผู้ตาย ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 เป็นการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินของผู้ตาย ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความและไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้น แม้จะเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปทำการเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๘๑๖ ตำบลบางเลน (บางยุง) อำเภอบางเลน (บางปลา) จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) ในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ (ที่ถูก ของผู้ตาย) หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกัน ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่ วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง… ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม… ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ… ขอให้ ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม… ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ โดยการครอบครอง ปรปักษ์… ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๘๑๖ ตำบลบางเลน (บางยุง) อำเภอบางเลน (บางปลา) นครปฐม (นครชัยศรี) ของจำเลยที่ ๒ เฉพาะในส่วนที่รุกล้ำและออกทับโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๕๐๒ ของโจทก์ (ที่ถูกของ นายไวผู้ตาย) เนื้อที่ประมาณ ๙๔ ตารางวา ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.๑๑ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ใน ข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า… มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ในฐานะ ผู้จัดการมรดกของนายไว ศรีปราง ผู้ตาย มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๘๑๖ ของจำเลยที่ ๒ หรือไม่ สำหรับจำเลยที่ ๑ ซึ่งฎีกาขึ้นมาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ วินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ บัญญัติให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวได้ จำเลยที่ ๑ ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะมาตรา ๖๑ บัญญัติให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจสั่งเพิกถอนแก้ไขได้สำหรับกรุงเทพมหานคร แต่ที่ดินพิพาทอยู่ในจังหวัดนครปฐม ซึ่งการเพิกถอนแก้ไขดังกล่าวเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมโดยตรง อธิบดีกรมที่ดินไม่มีอำนาจที่จะเพิกถอนแก้ไข ทั้งโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๘๑๖ ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนั้น จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการออกโฉนดที่ดิน และไม่ได้เป็นผู้ออกโฉนดที่ดินให้แก่บุคคลใดด้วย จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม จึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำการเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๘๑๖ ได้นั้น เห็นว่าการออกโฉนดที่ดินเป็นงานที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมที่ดิน เมื่อโจทก์เห็นว่าการออกโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องกรมที่ดินได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโฉนด ที่ดินเลขที่ ๑๓๘๑๖ ที่ออกให้แก่จำเลยที่ ๒ ทับที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕๐๒ ของนายไวบางส่วน ตั้งแต่ก่อนที่นายไวจะถึง แก่ความตายเป็นการกล่าวอ้างว่านายไวถูกโต้แย้งสิทธิในโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๕๐๒ โดยการกระทำของจำเลยที่ ๑ แล้ว ซึ่งจำเลยที่ ๑ ก็มิได้ให้การปฏิเสธในเรื่องนี้ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายไวจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ได้ แม้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ ที่แก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับ ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จะมีบทบัญญัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินสำหรับจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตามเป็นเพียงบทบัญญัติที่กฎหมายประสงค์จะกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดได้ด้วยเท่านั้น ไม่ได้ห้ามผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการออกโฉนดที่ดินฟ้องกรมที่ดินแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ในฐานะ ผู้จัดการการมรดกของผู้ตายฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๘๑๖ ในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๕๐๒ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ เป็นการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินของผู้ตาย ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ และไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ได้ คดีไม่ขาดอายุความไม่น่าจะเป็นเวลาช้านานเพียงใด
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา ๑,๕๐๐ บาท ให้แก่จำเลยที่ ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share