แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 69 ลงโทษจำคุก 4 เดือน ดังนี้คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 1 ใช้แป๊บน้ำตีโจทก์ร่วมที่ 1 เพราะโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อเหตุจะทำร้ายจำเลยที่ 1 ก่อนและจำเลยที่ 2 เข้าช่วยเหลือจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการป้องกันตัวแต่เกินสมควรแก่เหตุการที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นการป้องกันตัว เพราะข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อนโดยใช้แป๊บน้ำตีโจทก์ร่วมที่ 1ขณะโจทก์ร่วมที่ 1 เข็นรถเข็นออกจากประตูร้านโดยมิได้รู้ตัว ขณะโจทก์ร่วมที่ 1 เข้ายื้อแย่งแป๊บน้ำจากจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ก็เข้ามาชกต่อยโจทก์ร่วมที่ 1 นั้นเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์รับฟังมา ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
การที่จะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา68 นั้นต้องมีองค์ประกอบข้อสุดท้ายว่าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๒๙๗ ริบเหล็กแป๊บน้ำของกลาง
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ก่อนสืบพยานโจทก์ นายภูษิต อังสนานิวัฒน์ และนางสาวสุดา แซ่เล้า ผู้เสียหาย ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และศาลฎีกาเรียกนายภูษิตเป็นโจทก์ร่วมที่ ๑และนางสาวสุดาเป็นโจทก์ร่วมที่ ๒
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๒๙๗ จำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ คนละ ๑ ปี จำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๖ เดือน ริบเหล็กแป๊บน้ำของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๔ ที่ ๕
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ กระทำไปเพื่อป้องกันตัว แต่เกินสมควรแก่เหตุ ส่วนจำเลยที่ ๓ กระทำไปเพื่อป้องกันพอสมควรแก่เหตุ พิพากษาแก้เป็นว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙ จำคุก ๔ เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๒๙๗ ลงโทษจำคุกคนละ ๑ ปี แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้เป็นว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙ ก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ก็คงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ คนละ ๔ เดือน ซึ่งไม่เกิน ๑ ปี คดีจึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า การที่จำเลยที่ ๑ ใช้เหล็กแป๊บน้ำเป็นอาวุธตีโจทก์ร่วมที่ ๑ นั้น เป็นเพราะโจทก์ร่วมที่ ๑ ก่อเหตุขึ้นก่อนโดยจะเข้าทำร้ายจำเลยที่ ๑และจำเลยที่ ๒ เข้าช่วยเหลือ จำเลยที่ ๑ ก็เพื่อให้จำเลยที่ ๑ พ้นจากการถูกทำร้าย ฉะนั้น การที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่เป็นการป้องกันตัวเพราะข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้น โดยจำเลยที่ ๑ ใช้เหล็กแป๊บน้ำตีโจทก์ร่วมที่ ๑ในขณะที่โจทก์ร่วมที่ ๑ กำลังเข็นรถเข็นออกจากประตูหน้าร้านโดยมิได้รู้ตัวมาก่อน และเมื่อโจทก์ร่วมที่ ๑ เข้ายื้อแย่งเหล็กแป๊บน้ำจากจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ก็เข้ามาชกต่อยโจทก์ร่วมที่ ๑ นั้น เป็นฎีกาซึ่งโต้เถียงข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์รับฟังมาข้างต้นทั้งนี้โดยโจทก์มุ่งประสงค์จะให้ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายโจทก์ร่วมที่ ๑ เป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายโจทก์ร่วมที่ ๑ ฝ่ายเดียว หาใช่โจทก์ร่วมที่ ๑จะเข้าทำร้ายจำเลยที่ ๑ ก่อนไม่ ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นการป้องกันตัวโดยชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕, ๑๙๒ เห็นว่าที่จะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ ต้องมีองค์ประกอบข้อสุดท้ายว่า ได้กระทำพอสมควรแก่เหตุด้วย คดีนี้ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งจะถือว่าจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดดังข้อกฎหมายดังกล่าว แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งการกระทำยังเป็นความผิดอยู่
พิพากษายืน.