แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อเห็นสมควรศาลก็มีอำนาจจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองไม่ว่าในชั้นไหน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยเอง จึงย่อมมีอำนาจกระทำได้
เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์มิได้ระบุว่าโจทก์ที่ 2 เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ทั้งตามสัญญาซื้อขายที่โจทก์ทั้งสองนำมาฟ้องก็เป็นสัญญาระหว่างโจทก์ที่ 2 ผู้ซื้อฝ่ายหนึ่งกับจำเลยที่ 1 ผู้ขายอีกฝ่ายหนึ่ง โจทก์ที่ 2 จึงเป็นตัวการในสัญญา มิใช่ตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ดังนั้นโจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 879,698.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 819,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 71,906.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 65,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 105,602 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 2,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ส่วนประเด็นในปัญหาว่าโจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ แม้ในเรื่องอำนาจฟ้องนี้จำเลยจะมิได้กล่าวแก้เป็นประเด็นไว้ และมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแต่ศาลชั้นต้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อเห็นสมควรศาลก็มีอำนาจจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองไม่ว่าในชั้นไหน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยเองจึงย่อมมีอำนาจกระทำได้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ในนามของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ในนามส่วนตัวได้ และพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์มิได้ระบุว่าโจทก์ที่ 2 เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ทั้งตามสัญญาซื้อขายที่โจทก์ทั้งสองนำมาฟ้อง ก็เป็นสัญญาระหว่างโจทก์ที่ 2 ผู้ซื้อฝ่ายหนึ่งกับจำเลยที่ 1 ผู้ขายอีกฝ่ายหนึ่ง โจทก์ที่ 2 จึงเป็นตัวการในสัญญา มิใช่ตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ดังศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 460,200 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสองกำหนดเป็นค่าทนายความรวม 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.