แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้รับประกันภัยรับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายในการขนส่งอุปกรณ์ไฟฟ้าทางทะเลจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทย เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายและผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดและจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนของผู้ทำละเมิดได้ แม้กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างผู้รับประกันภัยและ ผู้เอาประกันภัยจะลงลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลไม่ถูกต้องตามตราสารข้อบังคับ ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญา ประกันภัย จำเลยร่วมซึ่งมิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาประกันภัยนั้นหาอาจยกมาเป็นเหตุให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดได้ไม่
หม้อแปลงไฟฟ้าที่ขนส่งซึ่งได้รับความเสียหายมีขนาดใหญ่ไม่ปรากฏว่า มีบริษัทหรือหน่วยงานแห่งใดในประเทศไทยเคยสร้างและซ่อมแซมมาก่อน เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นย่อมต้องจัดการซ่อมแซมให้ดีที่สุด เพราะหาก ซ่อมแซมไม่ดีแล้วการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนำไปใช้งานก็อาจกระทบกระเทือนถึงประชาชนโดยส่วนรวม ดังนั้น การที่บริษัท ซ. ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นบริษัทที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยว่าจ้างให้ออกแบบก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดราชบุรีพร้อมทั้งจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าและการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตัดสินใจส่งหม้อแปลงไฟฟ้านั้นกลับไปให้บริษัท ฟ. ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตซ่อมแซม จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุผลแล้ว และค่าเสียหายที่บริษัท ซ. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสามารถเรียกร้องจากโจทก์ผู้รับประกันภัยได้นอกจากค่าซ่อมแซมแล้ว ย่อมรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นอันจำเป็น เช่น ค่าขนส่งและค่าภาษีอากรในการส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้าไปซ่อมและส่งกลับมาติดตั้งยังสถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย
จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจรับจ้างขนส่งรับขนส่งสิ่งของจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปส่งยังสถานที่ต่าง ๆ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญารับจ้างขนส่งหม้อแปลงไฟฟ้ากับบริษัท ซ. ไปส่งที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขอบเขตของงานตามสัญญาจ้าง นับแต่จำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าจากเรือไปส่งและขนถ่ายลงยังสถานที่ตั้งของแต่ละโครงการเป็นไปตามที่กำหนดโดยผู้ว่าจ้างคือที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยร่วมเพื่อประกันความเสียหายเฉพาะการขนถ่ายสินค้าในบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามที่จำเลยร่วมกล่าวอ้าง ทั้งปรากฏว่าหลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยร่วมก็ได้ว่าจ้างบริษัท ศ. และบริษัท ย. เข้าสำรวจความเสียหายของหม้อแปลงไฟฟ้า และเป็นผู้ชำระเงินค่าสำรวจความเสียหายให้แก่บริษัททั้งสอง ซึ่งหากจำเลยร่วมเห็นว่าจำเลยร่วมไม่มีความรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยในกรณีดังกล่าวแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จำเลยร่วมจะต้องเข้ามาเป็นธุระดำเนินการสำรวจความเสียหาย สำหรับถ้อยคำว่า Terminal ในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งแปลว่าสถานีนั้นมีความหมายได้ทั้งสถานีต้นทางและปลายทาง เมื่อพิจารณาถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยประกอบพยานหลักฐานและพฤติการณ์อื่นแล้ว สถานีปลายทางตามกรมธรรม์ประกันภัย ย่อมมีความหมายถึงสถานที่ที่จำเลยที่ 1 จะต้องนำหม้อแปลงไฟฟ้าไปส่งให้แก่ผู้ว่าจ้างที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์หาได้หมายความถึงการขนถ่ายสินค้าเฉพาะบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามที่จำเลยร่วมกล่าวอ้างไม่ ดังนั้นเมื่อหม้อแปลงไฟฟ้าเกิดความเสียหายขณะที่ยกลงจากรถยนต์บรรทุกเพื่อวางยังสถานที่ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๖,๔๘๒,๕๓๗.๙๙ บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด เข้าร่วมเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน ๖,๔๘๒,๕๓๗.๙๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ มิฉะนั้นก็ให้จำเลยร่วมชำระแทน
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่น ออกแบบและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย พร้อมทั้งจัดหาและติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการนี้บริษัทซูมิโตโมแวร์เฮาส์ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่น ในประเทศไทยได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการให้ขนส่งหม้อแปลงไฟฟ้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปส่งที่สถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดราชบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระหว่างการขนส่งขณะที่ คนงานของจำเลยที่ ๑ ใช้เครื่องปั้นจั่นยกหม้อแปลงไฟฟ้าลงจากรถยนต์บรรทุกวางบนฐานรองรับที่สถานีไฟฟ้าย่อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เครื่องปั้นจั่นเกิดขัดข้องเนื่องจากแขนยกหดเข้าไป เป็นเหตุให้หม้อแปลงไฟฟ้าหลุดจากปั้นจั่นตกลงกระแทกกับพื้นจนได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยจากบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นและ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำหรับความเสียหายในระหว่างก่อสร้างและการขนส่งอุปกรณ์ไฟฟ้า และ ได้มีความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งอุปกรณ์ไฟฟ้าโจทก์ก็ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ไปแล้ว แม้กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะลงลายมือชื่อกรรมการบริษัทโจทก์เพียงคนเดียวก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผู้เอาประกันภัยที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว จำเลยร่วมซึ่งมิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาประกันภัยนั้น หาอาจยกมาเป็นเหตุให้จำเลยร่วมหลุดพ้นจากความรับผิดไปได้ไม่
จำเลยร่วมฎีกาข้อต่อมาว่า หม้อแปลงไฟฟ้าที่เสียหายนั้น บริษัทศิริวัฒน์ (๒๕๑๕) จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศไทยสามารถซ่อมแซมได้ บริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่จำเป็นต้องจัดส่ง หม้อแปลงไฟฟ้าไปซ่อมที่ประเทศญี่ปุ่น จำเลยร่วมต้องรับผิดเพียงเท่าจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริง ณ สถานที่และ เวลาที่เกิดวินาศภัยเท่าที่บริษัท ศิริวัฒน์ (๒๕๑๕) จำกัด ได้สำรวจและคำนวณไว้เป็นเงินจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น เห็นว่า หม้อแปลงไฟฟ้าที่เสียหายมีขนาดใหญ่ ไม่ปรากฏว่ามีบริษัทหรือหน่วยงานแห่งใดในประเทศไทย เคยสร้างและซ่อมแซมมาก่อน เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ย่อมต้องจัดการซ่อมแซมให้ดีที่สุด เพราะหากซ่อมแซม ไม่ดีแล้วนำไปใช้งานก็อาจกระทบกระเทือนถึงประชาชนโดยส่วนรวม ดังนั้น การที่บริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตัดสินใจส่งหม้อแปลงไฟฟ้ากลับไปให้บริษัทฟูจิอิเล็กทริก จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิต ซ่อมแซมจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุผลแล้ว และค่าเสียหายที่บริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสามารถเรียกร้องจากโจทก์ผู้รับประกันภัยได้นอกจากค่าซ่อมแซมแล้ว ย่อมรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นอันจำเป็น เช่น ค่าขนส่งและค่าภาษีอากร ในการส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้าไปซ่อมและส่งกลับมาติดตั้งยังสถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย
จำเลยร่วมฎีกาในประการสุดท้ายว่า ความรับผิดของจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยจากจำเลยทั้งสองมีเพียงเฉพาะการขนถ่ายสินค้าในบริเวณท่าเรือปลายทางเท่านั้น เพราะคำว่า Terminal Operators ในกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล. ๙ หมายถึงผู้ปฏิบัติการขนถ่ายสินค้าในบริเวณท่าเรือปลายทาง เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นที่สถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิด เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ประกอบธุรกิจรับจ้างขนส่งรับขนส่งสิ่งของจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปส่งยังสถานีที่ต่างๆ จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญารับจ้างขนส่งหม้อแปลงไฟฟ้ากับ บริษัทซูมิโตโมแวร์เฮ้าส์ จำกัด ไปส่งที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขอบเขตของงานตามสัญญาจ้าง นับแต่จำเลยที่ ๑ รับมอบสินค้าจากเรือไปส่งและขนถ่ายลงยังสถานที่ตั้งของแต่ละโครงการเป็นไปตามที่กำหนดโดย ผู้ว่าจ้างคือที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ ๑ จะทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยร่วมเพื่อประกันความเสียหายเฉพาะการขนถ่ายสินค้าในบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามที่จำเลยร่วมกล่าวอ้าง ทั้งปรากฏว่าหลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยร่วมก็ได้ว่าจ้างบริษัท ศิริวัฒน์ (๒๕๑๕) จำกัด และบริษัทยูไนเต็ดเซอร์เวย์เยอรส์แอนด์แอดจัสเตอรส์ จำกัด เข้าสำรวจความเสียหายของหม้อแปลงไฟฟ้า และเป็นผู้ชำระเงินค่าสำรวจความเสียหาย ให้แก่บริษัททั้งสอง ซึ่งหากจำเลยร่วมเห็นว่าจำเลยร่วมไม่มีความรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยในกรณีดังกล่าวแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จำเลยร่วมจะต้องเข้ามาเป็นธุระดำเนินการสำรวจความเสียหาย สำหรับถ้อยคำว่า Terminal ในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งแปลว่าสถานีนั้น มีความหมายได้ทั้งสถานีต้นทางและปลายทาง เมื่อพิจารณาถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัย ประกอบพยานหลักฐานและพฤติการณ์อื่นดังกล่าวมาแล้ว สถานีปลายทางตามกรมธรรม์ ประกันภัยเอกสารหมาย จ. ๙ ย่อมมีความหมายถึงสถานที่ที่จำเลยที่ ๑ จะต้องนำหม้อแปลงไฟฟ้าไปส่งให้แก่ผู้ว่าจ้างที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์หาได้หมายความถึงการขนถ่ายสินค้าเฉพาะบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามที่จำเลยร่วมกล่าวอ้างไม่ ดังนั้น เมื่อหม้อแปลงไฟฟ้าเกิดความเสียหายขณะที่ยกลงจากรถยนต์บรรทุกเพื่อวางยังสถานที่ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย
พิพากษายืน