คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7320/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญาจำนองระบุว่า จำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกันหนี้ทุกชนิดของจำเลยที่ 2และหรือจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์เป็นเงินจำนวน 1,000,000บาท เท่านั้น ดังนั้นตามสัญญาจำนองดังกล่าวจำเลยที่ 2มีความรับผิดในต้นเงินที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันกับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันในวงเงินรวมกันเป็นจำนวน 1,000,000 บาทส่วนข้อความตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่า การกำหนดจำนวนต้นเงินดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะบังคับจำนองสำหรับหนี้ต้นเงินที่เกินวงเงินไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆนั้น เป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอนหรือไม่มีเงินจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนองจึงเป็นโมฆะ แต่จำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดในดอกเบี้ยของหนี้ต้นเงินตามวงเงินจำนองนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองโดยถือเอาวันที่หนี้ตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยทั้งสองกับหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 รวมกันได้เต็มวงเงินจำนองดังกล่าวครั้งหลังสุดเป็นวันเริ่มต้นของการคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันเลิกสัญญา หลังจากนั้นต้องรับผิดในดอกเบี้ยไม่ทบต้นต่อไปจนกว่าจะมีการชำระเสร็จสิ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน2,032,634.78 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระขอให้บังคับจำนองและยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า หนี้ตามบัญชีเดินสะพัด2 บัญชี แยกจากกันเป็นคนละส่วน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ทั้งหมดพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,032,634.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีในต้นเงิน 1,825,390.53 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงิน703,193.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ในต้นเงิน631,496.63 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งสองจำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ ถ้าไม่พอให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองจนกว่าจะครบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2ทำสัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ของตนเองและของจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 036-3-01907-3 ของจำเลยที่ 1 ด้วยนั้นตามสัญญาจำนองและบันทึกต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.19 ปรากฏว่าในสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง ข้อ 1 มีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้เงินเบิกเกินบัญชีหนี้เงินกู้ ฯลฯและนอกจากหนี้ดังกล่าวแล้วยังจำนองเป็นประกันหนี้สินอื่นใดที่จำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่แล้วและหรือในขณะทำสัญญานี้และหรือหนี้ทุกประเภทดังกล่าวข้างต้นที่จะเกิดต่อไปในภายหน้าด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าหนี้ทุกประเภทดังกล่าวจะเกิดขึ้นประเภทเดียวหรือหลายประเภทและหรือต่างกรรมต่างวาระกันก็ตาม คู่สัญญาตกลงกำหนดจำนวนต้นเงินไว้ไม่ว่าจะเป็นหนี้ประเภทเดียวหรือหลายประเภทรวมกันในวงเงิน 1,000,000 บาท นอกจากจำนวนต้นเงินที่กำหนดไว้นี้ยังมีหนี้อุปกรณ์คือดอกเบี้ย ฯลฯ ซึ่งจำเลยทั้งสองยอมชดใช้ต่างหากแก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงให้ทรัพย์ที่จำนองเป็นประกันถึงหนี้อุปกรณ์เหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ให้เป็นที่เข้าใจกันอย่างแจ่มแจ้งว่าการกำหนดจำนวนต้นเงินไว้ในวรรคก่อนเพียงเพื่อจำกัดสิทธิจำเลยทั้งสองในอันที่จะก่อหนี้เกินวงเงินที่กำหนดไว้นั้นไม่เป็นการตัดสิทธิของโจทก์ที่จะบังคับจำนองสำหรับหนี้ต้นเงินเกินวงเงินที่กำหนดไว้เพราะมีดอกเบี้ยสมทบเข้าหรือสำหรับหนี้ต้นเงินกับหนี้อุปกรณ์รวมกันมีจำนวนเกินวงเงินที่กำหนดไว้นั้นหรือสำหรับหนี้ต้นเงินที่เกินวงเงินไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆและในข้อ 10 มีข้อความว่า ในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 เห็นว่าข้อความดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้บัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 ตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 036-3-01907-3 เอกสารหมาย จ.24 และ จ.25 ด้วยฉะนั้นจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในหนี้ดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามในสัญญาจำนองข้อ 1 ระบุว่าจำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกันหนี้ทุกชนิดของจำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์เป็นจำนวน 1,000,000 บาท เท่านั้น ดังนั้นตามสัญญาจำนองดังกล่าวจำเลยที่ 2 มีความรับผิดในต้นเงินที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 036-3-01892-0 กับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 036-3-01907-3ในวงเงินจำนองรวมกันเป็นจำนวน 1,000,000 บาท เท่านั้นส่วนข้อความตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.19 ข้อ 1ที่ระบุว่า การกำหนดจำนวนต้นเงินดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิของโจทก์ที่จะบังคับจำนองสำหรับหนี้ต้นเงินที่เกินวงเงินไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ นั้น เป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอนหรือไม่มีจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกัน เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนองจึงเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในต้นเงินเกินกว่าวงเงินจำนอง 1,000,000 บาท ดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2ยังต้องรับผิดในดอกเบี้ยของหนี้ต้นเงินตามวงเงินจำนองนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง เอกสารหมาย จ.19ข้อ 2 ด้วย โดยต้องถือเอาวันที่หนี้ตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 036-3-01892-0 ของจำเลยทั้งสอง กับหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 036-3-01907-3 ของจำเลยที่ 1 รวมกันได้เต็มวงเงินจำนองดังกล่าวครั้งสุดท้ายเป็นวันเริ่มต้นของการคิดดอกเบี้ยทบต้นปรากฏว่าตามบัญชีกระแสรายวันทั้งสองบัญชีดังกล่าวเอกสารหมาย จ.24ถึง จ.27 มีจำนวนหนี้ทั้งสองบัญชีรวมกันได้ถึง 1,000,000 บาทตามวงเงินจำนองดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้ายวันที่ 27 ธันวาคม 2534และหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 036-3-01892-0 ของจำเลยทั้งสองที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเดินบัญชีเดินสะพัดร่วมกันมีน้อยกว่า 1,000,000 บาท ดังนั้นในจำนวนหนี้บัญชีเดินสะพัดตามบัญชีกระแสรายวันทั้งสองบัญชีรวมกันจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2534จนถึงวันเลิกสัญญาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2536 หลังจากนั้นต้องรับผิดในดอกเบี้ยไม่ทบต้นต่อไปจนกว่าจะมีการชำระเสร็จสิ้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในต้นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นโดยคิดตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2534 ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2535 ในอัตราร้อยละ17.5 ต่อปี จากนั้นตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2535 ถึงวันที่ 31กรกฎาคม 2535 ในส่วนหนี้ภายในวงเงิน 500,000 บาทตามบัญชีเลขที่ 036-3-01907-3 คิดในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีส่วนที่เกินวงเงินดังกล่าวคิดในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีและตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2535 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2536คิดในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี หลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 19กุมภาพันธ์ 2536 ให้คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีจนกว่าจะมีการชำระเสร็จสิ้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share