แหล่งที่มา : กองผู้ช่วย ศาลฎีกา
ย่อสั้น
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าศาลแรงงานพิพากษาคดีโดยวินิจฉัยพยานหลักฐานฝ่าฝืนจากคำพยานหลักฐานในสำนวนเช่นวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสหภาพแรงงานในสถานประกอบการของจำเลยก็ดีเอกสารหมายล.1ถึงล.13เป็นรายงานการปฏิบัติงานที่ไม่ชอบของโจทก์แต่ที่จริงเป็นเอกสารที่มีข้อความชดเชยโจทก์ก็ดีและควรวินิจฉัยว่าพยานบุคคลที่โจทก์นำมาสืบรับฟังได้ว่าโจทก์ปฏิบัติงานมาด้วยดีส่วนพยานหลักฐานของจำเลยล้วนแต่เป็นพนักงานของจำเลยไม่ควรรับฟังก็ดีปรากฏว่าศาลแรงงานมิได้วินิจฉัยฝ่าฝืนพยานหลักฐานดังกล่าวโดยมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์มีความผิดเพราะเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสหภาพแรงงานในสถานประกอบการของจำเลยส่วนพยานเอกสารหมายล.1ถึงล.13ตรวจดูแล้วก็มิใช่หนังสือชมเชยการปฏิบัติงานของโจทก์ที่โจทก์อ้างว่ามีข้อความชดเชยว่าโจทก์ปฏิบัติงานดีก็ไม่มีปรากฏชัดแจ้งว่าเป็นเอกสารใดคงมีแต่เอกสารหมายจ.7และจ.8ที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานมิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยนั้นล้วนแต่โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานจึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงส่วนที่อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ตักเตือนเป็นหนังสือและศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ถูกรองกรรมการผู้จัดการของจำเลยเขียนหนังสือเตือนให้ปรับปรุงตัวใหม่ก็มิใช่หนังสือเตือนตามกฎหมายนั้นเป็นเพียงการนำมาประกอบเหตุผลในการวินิจฉัยว่าพฤติกรรมในการทำงานของโจทก์มีอย่างไรเท่านั้นเพราะในกรณีเลิกจ้างและจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นั้นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่ามีการเตือนเป็นหนังสือหรือไม่อุทธรณ์ข้อนี้ก็มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใดอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวล้วนแต่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา54วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันสุดท้ายของเดือนเมื่อวันที่31กรกฎาคม2532จำเลยเลิกจ้างโจทก์และตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้นั้นจำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีโจทก์ตามเอกสารหมายล.9จำนวนเงิน73,920บาทซึ่งแยกเป็นค่าชดเชย63,350บาทกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า10,560บาทโจทก์ยอมรับว่าค่าชดเชยถูกต้องคงโต้แย้งเฉพาะสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าดังนี้เมื่อจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์วันที่31กรกฎาคม2532ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือนจึงเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา582วรรคหนึ่งซึ่งนายจ้างอาจจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่บัญญัติในมาตรา582วรรคสองเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างอีก1เดือนเท่านั้นดังนั้นโจทก์จึงได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าครบถ้วนแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตั้งแต่ปี 2507 ครั้งสุดท้ายตำแหน่งหัวหน้าส่วนประจำฝ่าย และพนักงานผู้รับมอบหมายให้ลงลายมือชื่อให้ลงลายมือชื่อชั้น 1 ฝ่ายการพนักงานได้ค่าจ้างเดือนละ 10,560 บาท จ่ายให้ทุกวันสุดท้ายของเดือนเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2532 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีความประสงค์ที่จะขอกลับเข้าทำงานกับจำเลยต่อไป หากจำเลยไม่อาจรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 5,578,953.76 บาทแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชยจำนวน 6 เดือน เป็นเงิน63,360 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือน เป็นเงิน21,120 บาท ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม และจ่ายค่าจ้างระหว่างที่โจทก์ถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 21,120 บาท และค่าชดเชย 63,360 บาทกับค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 5,578,953.76 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์มีผลงานอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานนอกเวลา โต้เถียงผู้บังคับบัญชาด้วยกิริยารุนแรง ไม่ยอมต้อนรับลูกค้า ไม่มีความกระตือรือร้น มีทัศนคติไม่ดีและก้าวร้าวจำเลยโจทก์ทำตัวเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงต่อผู้บังคับบัญชาและจำเลยไม่มีมนุษยสัมพันธ์ หากให้ทำงานต่อไปก็มีแต่จะทำให้กิจการของจำเลยเสียหายเพียงอย่างเดียว ยากจะแก้ไข ไม่อาจร่วมทำงานกับจำเลยอีกต่อไปได้ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์และได้จ่ายค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่5 กันยายน 2532 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างการพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยนำเงินค่าชดเชยเข้าบัญชีของโจทก์ถูกต้องแล้ว ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตั้งแต่ปี 2507ครั้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนประจำฝ่ายและพนักงานผู้รับมอบหมายให้ลงลายมือชื่อชั้น 1 ฝ่ายการพนักงาน ได้ค่าจ้างเดือนละ 10,560 บาท จ่ายทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม2532 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายเงินให้โจทก์ด้วยวิธีโอนเงินจำนวน 73,920 บาท เข้าบัญชีของโจทก์ตามหลักฐานการโอนเงินหมาย ล.9 ส่วนการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นกรณีมีเหตุสมควรและเป็นธรรมหรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ต้องให้บริการประชาชนอย่างรวดเร็วให้เป็นที่ไว้ใจ และต้องแข่งขันกับธนาคารอื่น โดยเฉพาะงานของธนาคารสาขาต้องทำงานให้แล้วเสร็จทุกวัน บางครั้งต้องเลิกงานหลังเวลา16.30 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาเลิกงานปกติโดยพนักงานระดับบริหารและผู้เกี่ยวข้องต้องช่วยทำงานจนแล้วเสร็จ ในเวลาทำงานปกติหากงานส่วนใดมากและพนักงานส่วนอื่นว่างอยู่พนักงานนั้นต้องมาช่วยงานส่วนที่งานมากและต้องช่วยต้อนรับลูกค้าในระหว่างปี 2527ถึง 2528 โจทก์ทำหน้าที่หัวหน้าส่วนบริการลูกค้าที่สำนักงานพหลโยธินทำหน้าที่ด้านเงินโอนภายในประเทศ หน้าที่ของโจทก์ในระดับผู้ช่วยหัวหน้าส่วนจะต้องทำงานในทุก ๆ จุดที่ต้องอาศัยลายมือชื่อของโจทก์ในการอนุมัติทุก ๆ งานไปโดยขณะนั้นโจทก์ได้รับมอบอำนาจให้ลงลายมือชื่อไว้แทนธนาคาร จำเลยจึงต้องรับผิดชอบในทุกจุดที่ต้องบริการลูกค้า แต่ปรากฏว่าผลงานของโจทก์ต่ำกว่ามาตรฐาน ผู้บังคับบัญชาตักเตือนแล้วก็ไม่ดีขึ้น ผู้บังคับบัญชาจึงทำรายงานพฤติการณ์ของโจทก์เสนอตามลำดับขั้น จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งอื่น แต่ปรากฏว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจเพราะโจทก์ไม่ตั้งใจทำงานในปี 2529 จึงไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนปี 2530 ได้รับเลื่อนขั้นเงินเดือนเพียงครึ่งขั้น และปี 2531 และ 2532ไม่ได้รับเลื่อนขั้นเงินเดือนอีก โจทก์มีหนังสือร้องทุกข์แต่โจทก์กลับถูกรองกรรมการผู้จัดการของจำเลยเขียนหนังสือเตือนให้ปรับปรุงตัวใหม่ ต่อมาจำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์คณะกรรมการดังกล่าวสอบพยานบุคคลและตัวโจทก์รวม 29 ปาก ซึ่งพยานเหล่านั้นเป็นผู้บังคับบัญชาเพื่อนร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ ผลการสอบสวนปรากฏว่า โจทก์มีความผิดวินัยตามระเบียบว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2520 ข้อ 28(1)(2)(3)(4) และ (11)และมีความผิดตามข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของธนาคารกสิกรไทยพ.ศ. 2518 ข้อ 12.1 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ แต่ก็ได้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 1 เดือน ให้แก่โจทก์โดยนำเงินเข้าบัญชีของโจทก์แล้ว ส่วนพยานหลักฐานของโจทก์ที่ว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็งเอาใจใส่งาน เคยมีผลงานด้านตรวจจับเอกสารรักษาผลประโยชน์ของจำเลยไว้ จนได้รับคำชมเชยและเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นพิเศษ โจทก์ไม่มีพฤติการณ์เสื่อมเสียตามที่คณะกรรมการสอบสวนอ้าง สาเหตุที่ถูกเลิกจ้างเกิดจากโจทก์สอบถามผู้บริหารของจำเลยในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ผู้บริหารไม่พอใจมากและหาเหตุกลั่นแกล้งโจทก์ตลอดมา สาเหตุอีกประการหนึ่งคือโจทก์เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสหภาพแรงงานในสถานประกอบการของจำเลยจำเลยจึงไม่พอใจโจทก์และเลิกจ้างในที่สุดนั้น ไม่พอฟังหักล้างพยานหลักฐานของจำเลย พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักรับฟังดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าการกระทำของโจทก์เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของธนาคาร จงใจขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่เอาใจใส่ระมัดระวังผลประโยชน์ของธนาคารขาดความวิริยะอุสาหะ ไม่อุทิศเวลาและอำนวยความสะดวกแก่งานในหน้าที่อันเป็นการกระทำผิดวินัยตามระเบียบว่าด้วยการพนักงานพ.ศ. 2520 ข้อ 28(1)(2)(3)(11) ข้อ 31(3)(7) และข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของธนาคาร พ.ศ. 2518 ข้อ 12.1 เอกสารหมาย ล.5และ ล.4 ตามลำดับ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ไม่สนใจช่วยเหลืองานผู้อื่น ไม่อุทิศเวลาทำงานให้ลุล่วงไป ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชาในการทำงานตำหนิธนาคารจำเลยต่อหน้าลูกค้า ยุยงพนักงานและมีทัศนคติ ที่ไม่ดีต่อจำเลยซึ่งล้วนแต่เป็นอุปสรรคขัดขวางให้งานบริการของจำเลยล่าช้าเสียโอกาสในการประกอบการได้ หากให้คงทำงานต่อไปย่อมเกิดความเสียหายแก่จำเลย กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้และมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ที่โจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายส่วนในประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยหรือไม่ เพียงใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยโอนเงินจำนวน 73,920 บาท เข้าบัญชีของโจทก์แล้ว เงินดังกล่าวย่อมเป็นเงินค่าชดเชยจำนวน 63,360 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เป็นเงิน 10,560 บาท อันเป็นการเลิกจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องอีก พิพากษายกฟ้อง โจทก์ อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีโดยวินิจฉัยพยานหลักฐานฝ่าฝืนจากคำพยานหลักฐานในสำนวน เช่น วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสหภาพแรงงานในสถานประกอบการของจำเลยก็ดี เอกสารหมาย ล.1ถึง ล.13 เป็นรายงานการปฏิบัติงานที่ไม่ชอบของโจทก์ แต่ที่จริงเป็นเอกสารที่มีข้อความชมเชยโจทก์ก็ดี และควรวินิจฉัยว่าพยานบุคคลที่โจทก์นำมาสืบรับฟังได้ว่าโจทก์ปฏิบัติงานมาด้วยดีส่วนพยานหลักฐานของจำเลยล้วนแต่เป็นพนักงานของจำเลยไม่ควรรับฟังก็ดี ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยฝ่าฝืนพยานหลักฐานดังกล่าว โดยมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์มีความผิดเพราะเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสหภาพแรงงานในสถานประกอบการของจำเลย ส่วนพยานเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.13 ตรวจดูแล้วก็มิใช่หนังสือชมเชยการปฏิบัติงานของโจทก์ ที่โจทก์อ้างว่ามีข้อความชมเชยว่าโจทก์ปฏิบัติงานดีก็ไม่มีปรากฏชัดแจ้งว่าเป็นเอกสารใด คงมีแต่เอกสารหมาย จ.7และ จ.8 ที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางมิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยนั้น ล้วนแต่โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางจึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ส่วนที่อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ตักเตือนเป็นหนังสือ และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ถูกรองกรรมการผู้จัดการของจำเลยเขียนหนังสือเตือนให้ปรับปรุงตัวใหม่ (น่าจะหมายถึงเอกสารหมาย ล.13) ก็มิใช่หนังสือเตือนตามกฎหมายนั้น เป็นเพียงการนำมาประกอบเหตุผลในการวินิจฉัยว่าพฤติกรรมในการทำงานของโจทก์มีอย่างไร เท่านั้น เพราะในกรณีเลิกจ้าง และจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นั้น ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่ามีการเตือนเป็นหนังสือหรือไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ก็มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวล้วนแต่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาต่อไปคือจำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์อีก 1 เดือน ตามที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่าในคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันสุดท้ายของเดือน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2532 จำเลยเลิกจ้างโจทก์และตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้นั้น จำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.9 จำนวนเงิน 73,920 บาท ซึ่งแยกเป็นค่าชดเชย63,350 บาท กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 10,560 บาทโจทก์ยอมรับว่าค่าชดเชยถูกต้อง คงโต้แย้งเฉพาะสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในปัญหานี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าใด ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาโดยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนและถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน” และวรรคสอง บัญญัติว่า “อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียวแล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้” เมื่อจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์วันที่ 31 กรกฎาคม 2532 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือน จึงเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งตามที่บัญญัติในวรรคหนึ่ง ซึ่งนายจ้างอาจจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่บัญญัติให้วรรคสองเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างอีก 1 เดือน เท่านั้น ดังนั้น โจทก์จึงได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าครบถ้วนแล้ว พิพากษายืน