คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2820/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินมีโฉนดมิได้ระบุว่าผู้ใดมีกรรมสิทธิ์คนละเท่าใด กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 ซึ่งให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน ต่อมาได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของเจ้าของรวมคนหนึ่งโดยระบุส่วนของเจ้าของรวมคนนั้นเกินไปก็หาทำให้ผู้รับโอนได้กรรมสิทธิ์ส่วนที่เกินไปด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ จำเลย นางแป้น และนางฉวีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๒๔๘ ตำบลตะค่า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรีคนละส่วนเท่าๆ กัน ได้ครอบครองที่ดินร่วมกันมา โจทก์ประสงค์จะแบ่งที่ดินเฉพาะของโจทก์ออกเป็นส่วนสัด แต่จำเลยไม่ยอมแบ่ง ขอบังคับให้จำเลยไปทำการแบ่งแยกให้โจทก์ตามส่วน
จำเลยให้การว่า โจทก์ จำเลย นางแป้น นางฉวีมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดพิพาทร่วมกันจริง แต่ส่วนกรรมสิทธิ์ไม่เท่ากัน ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งาน ๔๘ ตารางวา หรือ ๑,๔๔๘ ส่วน เดิมนางบัวถือกรรมสิทธิ์ ๗๒๔ ส่วนร่วมกับโจทก์ นางแป้น นางฉวี นางบัวขาย ที่ดินส่วนของตนให้แก่นางจวงภรรยาจำเลย ๒๐๐ ส่วน โดยจดทะเบียนให้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ต่อมานางบัวจดทะเบียนยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนทั้งหมดให้นางจวง ที่ดินอีก ๗๒๔ ส่วนจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ นางแป้น นางฉวีคนละเท่าๆ กัน เมื่อนางจวงถึงแก่กรรม จำเลยและบุตรได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินเฉพาะส่วนนางจวง จำเลยได้ยื่นเรื่องราวขอแบ่งแยกที่ดิน ช่างรังวัดได้แบ่งแยกให้โจทก์ จำเลย นางแป้น นางฉวี ต่างมีหน้าที่ดินติดถนนคันคลอง แต่โจทก์ค้านว่า โจทก์ จำเลย นางแป้น นางฉวีมีที่ดินคนละส่วนเท่าๆ กัน และจะเอาที่ดินส่วนติดถนนคันคลองชลประทานแต่ผู้เดียว จำเลยจึงไม่ยอม ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางทองหยิบ เพชรปานจัน หรือเพชรปานกัน นางสังเวียน อุทัยฉาย นางสังวาลย์ มณีพันธุ์ นางแป้น พันธุ และนางฉวี พรมศร เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ทางทองหยิบ นางสังเวียน และนางสังวาลย์ให้การว่า จำเลยร่วมทั้งสามมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดพิพาทจริง แต่กรรมสิทธิ์ไม่เท่ากัน โดยเดิมนางบัวมีกรรมสิทธิ์ ๗๒๔ ส่วน นางบัวจดทะเบียนให้นางจวงถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมด้วย ๒๐๐ ส่วนใน ๗๒๔ ส่วน ต่อมานางบัวจดทะเบียนให้นางจวงถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมด ที่ดินที่เหลืออีก ๗๒๔ ส่วนเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ นางแป้น นางฉวี คนละเท่าๆ กัน คิดเป็นเนื้อที่คนละ ๒๔๑ ๑/๓ ส่วน เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ จำเลยซึ่งเป็นสามีนางจวง จำเลยร่วมที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นบุตรนางจวงได้ร่วมกันจดทะเบียนโอนรับมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของนางจวง จำเลยร่วมที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ไม่เคยปฏิเสธไม่ยอมรังวัดแบ่งแยก
นางแป้น นางฉวี ไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด และโจทก์มิได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะตัวนางแป้น นางฉวี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยนำโฉนดไปทำการแบ่งแยกให้โจทก์ นางแป้น นางฉวีกึ่งหนึ่ง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๒๔๘ มีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันสามคนคือ นายฉาย นางจีน และนางเทียม และมิได้ระบุว่าผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคนละเท่าใด กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๕๗ ว่า “ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน” ดังนั้น นายฉาย นางจีน และนางเทียม จึงมีกรรมสิทธิ์คนละ ๑ ใน ๓ ส่วนเท่าๆ กัน เมื่อนางบัวจดทะเบียนโอนรับมรดกเฉพาะส่วนของนางเทียม นางบังจึงมีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินเพียงหนึ่งในสามส่วน คิดเป็นเนื้อที่ ๔๘๒ ๒/๓ ตารางวา โจทก์ซึ่งจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของนายฉาย นางจีน โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินสองในสามส่วนคิดเป็นเนื้อที่ ๙๖๕ ๑/๓ ตารางวา เมื่อต่อมาปรากฏว่านางบัวได้จดทะเบียนขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนทั้งหมดให้แก่นางจวง และจำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสามได้จดทะเบียนโอนรับมรดกเฉพาะส่วนของนางจวง จำเลยกับจำเลยร่วมจึงมีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินหนึ่งในสามส่วนเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานที่ดินได้บันทึกในรายการจดทะเบียนโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนของนางบัว ว่านางบัวยินยอมให้นางจวงถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินของตนจำนวน ๒๐๐ ส่วนในจำนวน ๗๒๔ ส่วน ส่วนของคนอื่นตามเดิม จึงเป็นการไม่ถูกต้อง แม้ต่อมานางบัวจะขายที่ดินที่เหลือให้แก่นางจวงไปทั้งหมด นางจวงย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินหนึ่งในสามส่วนจำเลยและจำเลยร่วมผู้รับโอนมรดกนางจวงจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหนึ่งในสามส่วนเท่านั้น ฝ่ายโจทก์ซึ่งยินยอมให้นางแป้น นางฉวีถือกรรมสิทธิ์ร่วมจึงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินสองในสามส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๒๔๘ ตำบลตะค่า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้โจทก์ นางฉวี นางแป้นสองในสามส่วนคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๙๖๕ ๑/๓ ตารางวา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยและจำเลยร่วม

Share