คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8005/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ยอมรับสมุดบันทึกและกระดาษบันทึกที่มีลายมือเขียนของผู้ทำพินัยกรรมเพื่อส่งไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับพินัยกรรมเป็นการสั่งไปตามอำนาจหน้าที่ การที่โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้าน ระบุว่าศาลไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด คำสั่งหรือการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแผนขั้นตอนหรือวิธีการโดยไม่สุจริตเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนรังเกียจโจทก์ไม่พอใจโจทก์ ดังนี้เป็นการดูหมิ่นผู้พิพากษาซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) แม้ต่อมาโจทก์จะยื่นคำแถลงขอถอนคำแถลงคัดค้าน ก็ไม่ทำให้คำแถลงคัดค้านหมดไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางปราณีย์หรือปราณี ผู้ตายตามคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 9584/2543 (ตามคำร้องอ้างว่า ผู้ตายไม่ทำพินัยกรรม) ฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้คดีหมายเลขแดงที่ 10711/2543 (ตามคำร้องอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรม) ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกนางปราณีย์หรือปราณีผู้ตาย ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 24181 ตำบลคลองตัน อำเภอคลองเตย กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยจดทะเบียนการโอนเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2544 ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง และกำจัดจำเลยมิให้เป็นผู้รับพินัยกรรมของนางปราณีย์หรือปราณี ผู้ตาย
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขอให้ส่งพินัยกรรมไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับสมุดบันทึกและกระดาษบันทึก จำเลยแถลงคัดค้านว่าสมุดบันทึกและกระดาษบันทึกไม่ใช่ลายมือเขียนของนางปราณี จึงให้เลื่อนไปนัดพร้อมในวันที่ 22 สิงหาคม 2546 เพื่อให้โจทก์และจำเลยไปนำต้นฉบับหลักฐานลายมือเขียนของนางปราณีที่มีอยู่ในหน่วยราชการมาแสดงต่อศาล ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งที่สั่งไม่อนุญาตให้ส่งสมุดบันทึกและกระดาษบันทึกไปตรวจพิสูจน์ นายสุรศักดิ์ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะคดีนี้ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2546 ว่า “เสนออธิบดีทราบเพื่อพิจารณาคำแถลงมีลักษณะละเมิดอำนาจศาล” อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งในวันเดียวกันว่า “เห็นสมควรมอบหมายให้ท่านรองฯ สนธิศาสตร์ขึ้นร่วมพิจารณาว่าด้วยเรื่องละเมิดอำนาจศาลในวันนัด” ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2546 โจทก์ยื่นคำแถลงขอถอนคำแถลงคำคัดค้านลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 ดังกล่าว นายสุรศักดิ์ผู้พิพากษามีคำสั่งว่า “สั่งในรายงานฯ” และสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่าให้รอสั่งในนัดหน้าวันที่ 29 กันยายน 2546 ครั้นวันนัด ศาล (องค์คณะพิพากษาคือนายสนธิศาสตร์ นายสุรศักดิ์ นายมนตรี) พิจารณาคำแถลงของโจทก์ฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 แล้วเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาโดย (ที่ถูกใน) การพิจารณาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31 (1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำคุกโจทก์ 6 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี หากโจทก์ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งละเมิดอำนาจศาล และคำสั่งไม่รับสมุดบันทึกและกระดาษบันทึกเพื่อตรวจพิสูจน์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์ได้ยื่นสมุดบันทึกและกระดาษบันทึกเพื่อตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับพินัยกรรม แต่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับเนื่องจากจำเลยคัดค้านว่าไม่ใช่ลายมือนางปราณี ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งศาลลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 ซึ่งมีข้อความตามที่กล่าวต่อไปนี้ ข้อ 1…ข้อ 3 การพิเคราะห์ของศาลตามทนายจำเลยและจำเลยที่มีคำชี้ขาดตัดสิทธิของโจทก์ขัดกับข้อกฎหมายและระเบียบของกองพิสูจน์หลักฐานของกรมตำรวจและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.2543 มาตรา 122 ถึง 127 และ 127 ทวิ การกระทำของศาลจึงเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด คำสั่งหรือการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือมีลักษณะการสร้างกฎระเบียบ โดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดแก่ประชาชนเกินสมควรหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยเหตุผลดังกล่าว ขอให้ศาลปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.2543 และโจทก์เคยคัดค้านผู้พิพากษาตามมาตรา 11 (1), 13, 14, 26 และ 27 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2545 มาครั้งหนึ่งแล้ว การที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนรังเกียจโจทก์ไม่พอใจโจทก์ ขอให้ท่านถอนตัวออกจากการเป็นเจ้าของสำนวนตามมาตรา 13 (1) เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2548 โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลพิพากษาตามยอม โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างทำนองว่า นางปราณีมิได้ทำพินัยกรรมดังที่จำเลยอ้างโดยขอส่งสมุดบันทึกและกระดาษบันทึกเพื่อไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับพินัยกรรม แต่จำเลยคัดค้านไม่ยอมรับว่าสมุดบันทึกและกระดาษบันทึกไม่ใช่ลายมือของนางปราณี การที่ศาลชั้นต้นไม่ยอมรับสมุดบันทึกและกระดาษบันทึกเพื่อส่งไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับพินัยกรรมจึงเป็นการสั่งไปตามอำนาจหน้าที่การที่โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 ระบุว่าศาลไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด คำสั่งหรือการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแผนขั้นตอนหรือวิธีการโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนรังเกียจโจทก์ไม่พอใจโจทก์ ดังนี้ เป็นการดูหมิ่นผู้พิพากษาซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) แม้ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2546 โจทก์จะยื่นคำแถลงขอถอนคำแถลงคัดค้านลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 ก็หาทำให้คำแถลงคัดค้านลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 หมดไปไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นว่าโจทก์กระทำละเมิดอำนาจศาลมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share