คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7919/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือที่จำเลยทำไว้แก่โจทก์ แม้จะใช้คำว่า “หนังสือรับสภาพหนี้” แต่เมื่อข้อกำหนดและเหตุผลในการจัดทำเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยต่างตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งเกิดจากหนังสือรับสภาพหนี้ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งเมื่อจำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2540 อายุความที่โจทก์จะต้องบังคับใช้สิทธิเรียกร้องจึงมีกำหนดสิบปีนับแต่วันดังกล่าวตามมาตรา 193/32

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ก่อนปี 2531 นางอโนชาได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยทั้งสาม นางอโนชา นางสาวอรอุมา นายเทวัญและนายสุพิทักษ์ ร่วมกันทำหนังสือรับสภาพหนี้ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสามกับพวกได้เจรจาตกลงกัน โดยโจทก์ยอมลดหนี้ที่ค้างชำระให้จำเลยทั้งสามและนายสุพิทักษ์เหลือเพียง 1,700,000 บาท และวันที่ 29 ธันวาคม 2535 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำหนังสือรับสภาพหนี้จำนวน 1,700,000 บาท โดยผ่อนชำระเป็นงวดๆ จำเลยทั้งสามชำระหนี้ให้โจทก์เป็นครั้งสุดท้ายวันที่ 3 กันยายน 2540 จำนวน 3,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามชำระแก่โจทก์ 326,000 บาท คงค้างชำระอยู่ 1,374,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉย จำเลยทั้งสามต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2540 ถึงวันฟ้อง โจทก์คิดดอกเบี้ยเพียง 5 ปี เป็นดอกเบี้ย 515,250 บาท รวมเป็นเงิน 1,889,250 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,889,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,374,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หนังสือสัญญารับสภาพหนี้ไม่มีมูลหนี้จริง คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 1,889,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,374,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำสัญญารับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 29 ธันวาคม 2535 ตามเอกสารหมาย จ.6 ให้ไว้แก่โจทก์ โดยยอมรับว่าจำเลยทั้งสามกับนายสุพิทักษ์เป็นหนี้โจทก์ จำนวน 1,700,000 บาท และจำเลยทั้งสามขอร่วมกันผ่อนชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ตามรายละเอียดที่ระบุไว้ แต่จำเลยทั้งสามผ่อนชำระให้โจทก์ไม่ครบถ้วนตามข้อตกลง โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2540 จำนวน 3,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการแรกว่า หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.6 ทำขึ้นโดยไม่มีมูลหนี้ต่อกันมาก่อนหรือไม่ พยานโจทก์คือนายเกรียงศักดิ์ทนายความโจทก์ และนางณธรีผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความให้ข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันว่า ระหว่างปี 2528 และ 2529 นางอโนชามารดาของจำเลยทั้งสาม นางสาวอรอุมา นายเทวัญ นายสุพิทักษ์และจำเลยทั้งสามผลัดเปลี่ยนกันกู้เงินโจทก์ จนกระทั่งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยทั้งสามกับพวกรวม 7 คน ดังกล่าว ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ จำนวน 6,148,100 บาท และขอผ่อนชำระโดยสั่งจ่ายเป็นเช็คเงินสดให้ไว้แก่โจทก์ตามรายละเอียดในหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.5 แต่ต่อมาเช็คบางฉบับถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้ดำเนินคดีแก่ผู้สั่งจ่ายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ จำเลยทั้งสามจึงเจรจาขอประนีประนอมยอมความและได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.6 ให้ไว้แก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์ยุติการดำเนินคดีทางอาญา นอกจากนายเกรียงศักดิ์และนางณธรีแล้ว โจทก์ยังมีพยานอีกปากหนึ่งคือนางสาวอรอุมาเบิกความให้ข้อเท็จจริงสอดคล้องกับนายเกรียงศักดิ์และนางณธรี นางสาวอรอุมาเป็นพี่สาวของจำเลยทั้งสามเบิกความยอมรับข้อเท็จจริงซึ่งเป็นผลร้ายแก่ตนเองและพี่น้องของตน คำเบิกความของนางสาวอรอุมาย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้ พยานจำเลยคงมีเพียงจำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียวเบิกความปฏิเสธความรับผิดเพียงว่าจำเลยทั้งสามไม่เคยเห็นสัญญากู้เงินซึ่งนางอโนชาผู้เป็นมารดาทำไว้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามและพี่น้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2531 เอกสารหมาย จ.5 ให้ไว้แก่โจทก์เพียงเพื่อให้นางอโนชาสบายใจ ตลอดทั้งการที่จำเลยทั้งสามทำหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 29 ธันวาคม 2535 เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งโจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ก็เพียงเพื่อให้คดีอาญาระงับเท่านั้น จะเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสามขัดแย้งกับคำเบิกความของนางอโนชาและขาดเหตุผลที่จะให้รับฟังว่าจำเลยทั้งสามยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.6 ให้แก่โจทก์โดยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อต่อไปมีว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 29 ธันวาคม 2536 เอกสารหมาย จ.6 ศาลฎีกาพิเคราะห์ข้อความในเอกสารหมาย จ.6 ประกอบกับข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว้าหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.6 มีขึ้นเนื่องจากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามข้อตกลงในหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.5 จนกระทั่งโจทก์ต้องดำเนินคดีในทางอาญาแก่ผู้ที่สั่งจ่ายเช็คให้ไว้แต่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเช่นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยทั้งสามทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.6 ให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ได้ถอนฟ้องหรือถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญาเหล่านั้นตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 อีกทั้งโจทก์ยังได้ลดจำนวนหนี้ 6,148,100 บาท ตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.5 ให้แก่จำเลยทั้งสาม นายสุพิทักษ์ นางสาวอรอุมา และนายเทวัญ โดยสำหรับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดจำนวน 1,700,000 บาท และให้ผ่อนชำระด้วยดังรายละเอียดในหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.6 ดังนี้ เอกสารหมาย จ.6 ดังกล่าว แม้จะใช้คำว่า “หนังสือรับสภาพหนี้” แต่เมื่อข้อกำหนดและเหตุผลในการจัดทำเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยทั้งสามต่างตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งเกิดจากหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.5 ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เอกสารหมาย จ.6 จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ซึ่งเมื่อจำเลยทั้งสามปฏิบัติการชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2540 อายุความที่โจทก์จะต้องบังคับใช้สิทธิเรียกร้องจึงมีกำหนดสิบปีนับแต่วันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2545 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท

Share