แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้อนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจะมีคำชี้ขาดในวันที่ 24 กันยายน 2555 ก็ตาม แต่เมื่อกรณียังสามารถอุทธรณ์คำชี้ขาด แก้ไขข้อผิดพลาดข้อผิดหลงเล็กน้อย หรือตีความอธิบายข้อความหรือส่วนหนึ่งส่วนใดในคำชี้ขาดโดยคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ และผู้คัดค้านเองก็เป็นฝ่ายอุทธรณ์คำชี้ขาดต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และมีหนังสือคัดค้านคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์รวม 3 ครั้ง จนคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำชี้ขาดฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ดังนั้น คำชี้ขาดวันที่ 24 กันยายน 2555 จึงยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติอันอาจมีคำร้องขอให้บังคับตามได้ดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ แต่ต้องถือเอาตามคำชี้ขาดและคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมสองฉบับหลัง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์ด้านเทคนิคแห่งสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42
สำหรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทำนองว่า สัญญาขายฝ้ายดิบระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านใช้เงื่อนไข “invoice back” ในอันที่จะได้รับค่าสินค้าโดยไม่ต้องส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ถือเป็นข้อตกลงให้ผู้ซื้อต้องรับผิดมากกว่าที่กฎหมายกำหนดอันถือว่าเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย การตกลงให้ใช้กฎหมายอังกฤษและอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจึงเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย ข้อกำหนดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายอนุญาโตตุลาการและกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแห่งสากลเนื่องจากอนุญาโตตุลาการขาดความอิสระและเป็นกลาง กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศเป็นกระบวนการที่ปราศจากการสืบพยานบุคคล จึงไม่มีการนำเรื่องความผิดปกติของราคาฝ้าย ที่เกิดจากการปั่นราคามาวินิจฉัย ทั้งเมื่อกระบวนการอนุญาโตตุลาการผิดพลาดโดยลงลายมือชื่อไม่ครบองค์คณะ ก็หาทางกลบเกลื่อนแก้ไขสิ่งที่ไม่ชอบให้กลับเป็นชอบ และการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการชั้นอุทธรณ์แต่งตั้งโดยประธานสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศโดยมิได้รับความยินยอมหรือความเห็นจากคู่พิพาทนั้น เห็นว่า เป็นการอุทธรณ์เกี่ยวกับข้อกำหนดกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศทำนองว่าไม่เป็นสากลและไม่เป็นกลาง กับโต้แย้งในเนื้อหาของสัญญาและดุลพินิจในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านกระทำผิดสัญญาหรือไม่ ซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ อันมิใช่การโต้แย้งกรณีใดกรณีหนึ่งดังที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศ นั้น ปรากฏว่าเงินดังกล่าวเป็นยอดรวมของเงินส่วนต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาตลาด และเงินดอกเบี้ยของเงินส่วนต่างดังกล่าวตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับ อันเป็นการพิพากษาโดยให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด เนื่องจากมีการนำส่วนของดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมารวมเป็นเงินต้นในการคำนวณดอกเบี้ยต้องห้าม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์วันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำชี้ขาดวันที่ 28 สิงหาคม 2556 โดยให้ผู้คัดค้านออกใบเรียกเก็บเงินเรียกกลับให้แก่ผู้ร้องสำหรับ 1. สินค้าตามสัญญาเลขที่ BZ-FEK11-01N น้ำหนัก 400 ตัน หรือ 881,840 ปอนด์ ในราคา 110.50 เซนต์สหรัฐต่อปอนด์ 2. สินค้าตามสัญญาเลขที่ BZ-FEK11-02N น้ำหนัก 600 ตัน หรือ 1,322,760 ปอนด์ ในราคา 109.50 เซนต์สหรัฐต่อปอนด์ 3. สินค้าตามสัญญาเลขที่ BZ-FEK11-03N น้ำหนัก 400 ตัน หรือ 881,840 ปอนด์ ในราคา 110.50 เซนต์สหรัฐต่อปอนด์ และ 4. สินค้าตามสัญญาเลขที่ BZ-FEK11-04N น้ำหนัก 600 ตัน หรือ 1,322,760 ปอนด์ ในราคา 109.50 เซนต์สหรัฐต่อปอนด์ หากผู้คัดค้านไม่ออกใบเรียกเก็บเงินเรียกกลับดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาในการดำเนินการ ให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 4,451,041.19 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ผู้ร้องพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2556 จนกว่าจะชำระแก่ผู้ร้องเสร็จสิ้น และให้ผู้คัดค้านชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ผู้ร้องได้ชำระไปจำนวน 11,489 ปอนด์สเตอร์ลิง โดยเพื่อประโยชน์ในการคำนวณทุนทรัพย์ ผู้ร้องขอถืออัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขายให้แก่ลูกค้าตามข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ในอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 34.7821 บาท และ 1 ปอนด์สเตอร์ลิง เท่ากับ 46.2723 บาท
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศฉบับลงวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ของคณะกรรมการอุทธรณ์เทคนิค ประกอบกับคำวินิจฉัยชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ว่า ให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 4,451,041.19 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2556 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง กับให้ผู้คัดค้านชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนอนุญาโตตุลาการที่ผู้ร้องชำระไปจำนวน 11,489 ปอนด์สเตอร์ลิง ให้แก่ผู้ร้อง ดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของต้นเงินทั้งสองจำนวนคำนวณถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2559 อันเป็นวันฟ้อง มิให้เกิน 19,390,858.03 บาท หากผู้คัดค้านจะชำระหนี้ดังกล่าวด้วยเงินบาท ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในเวลาที่ใช้เงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 และให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีนี้แทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้เป็นยุติว่า ประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหราชอาณาจักรต่างเป็นรัฐภาคีสมาชิกแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ก ค.ศ.1958 ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อการนำเข้าส่งออก เป็นตัวแทนจำหน่าย ขายส่ง ผลิต แปรรูปผลิตภัณฑ์เส้นใย วัตถุดิบเส้นใย ผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายไทย มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต ส่งออก และจำหน่ายสิ่งทอ เมื่อวันที่ 9 และวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ผู้ร้องทำสัญญาขายฝ้ายดิบให้แก่ผู้คัดค้านเพื่อให้ผู้ร้องจัดหาฝ้ายดิบจากประเทศบราซิลให้แก่ผู้คัดค้านจำนวน 2,000 ตัน รวม 4 ฉบับ โดยระบุเงื่อนไขว่าอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศ (The International Cotton Association หรือ ICA) เมืองลิเวอร์พูล ประเทศสหราชอาณาจักร วันที่ 13 ธันวาคม 2554 ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทตามสัญญาทั้งสี่ฉบับดังกล่าวต่ออนุญาโตตุลาการแห่งสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศ วันที่ 24 กันยายน 2555 อนุญาโตตุลาการแห่งสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านออกใบเรียกเก็บเงินเรียกกลับ (invoice back) ให้แก่ผู้ร้อง และให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระค่าส่วนต่างของราคาตามสัญญากับราคาตลาดพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการภายใน 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังเป็นยุติว่าหลังจากอนุญาโตตุลาการแห่งสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศ (ICA) มีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2555 แล้ว ต่อมาผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์คำชี้ขาดดังกล่าวต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ด้านเทคนิคแห่งสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศ (TAC) โดยคณะกรรมการอุทธรณ์ดังกล่าวมีคำชี้ขาดฉบับวันที่ 12 เมษายน 2556 และต่อมาผู้คัดค้านมีหนังสือถึงคณะกรรมการอุทธรณ์อ้างว่าคำชี้ขาดฉบับนี้ใช้บังคับไม่ได้ เป็นเหตุให้คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำชี้ขาดอีกฉบับลงวันที่ 28 สิงหาคม 2556 แต่ผู้คัดค้านก็มีหนังสือถึงสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศหยิบยกประเด็นไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์ทั้งสองฉบับดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ 10 ตุลาคม 2556 คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมให้แก้ไขคำชี้ขาดฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 เฉพาะเรื่องดอกเบี้ยโดยให้ถือคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำชี้ขาดฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 เมื่อสัญญาขายฝ้ายดิบระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านระบุเงื่อนไขว่าอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศ ซึ่งตามกฎเกณฑ์และการระงับข้อพิพาทแห่งอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศ ข้อ 311 เปิดโอกาสให้คู่พิพาทสามารถอุทธรณ์คำชี้ขาดต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ด้านเทคนิคแห่งสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศได้ และตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการประเทศสหราชอาณาจักร ค.ศ.1996 มาตรา 57 ก็เปิดโอกาสให้คณะอนุญาโตตุลาการสามารถแก้ไขเพิ่มเติมคำชี้ขาดที่เกิดจากข้อผิดพลาดผิดหลงเล็กน้อยหรือตีความอธิบายข้อความหรือส่วนหนึ่งส่วนใดในคำชี้ขาดได้ ดังนั้น แม้อนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจะมีคำชี้ขาดในวันที่ 24 กันยายน 2555 ก็ตาม แต่เมื่อกรณียังสามารถอุทธรณ์คำชี้ขาด แก้ไขข้อผิดพลาดข้อผิดหลงเล็กน้อย หรือตีความอธิบายข้อความหรือส่วนหนึ่งส่วนใดในคำชี้ขาดโดยคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ และผู้คัดค้านเองก็เป็นฝ่ายอุทธรณ์คำชี้ขาดต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และมีหนังสือคัดค้านคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์รวม 3 ครั้ง จนคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำชี้ขาดฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 คำชี้ขาดวันที่ 24 กันยายน 2555 จึงยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติอันอาจมีคำร้องขอให้บังคับตามได้ดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ แต่ต้องถือเอาตามคำชี้ขาดและคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมสองฉบับหลัง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์ด้านเทคนิคแห่งสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 แล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ด้วยว่า คำชี้ขาดฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ดังกล่าวตกเป็นโมฆะ เนื่องจากคณะกรรมการอุทธรณ์ดำเนินการแก้ไขคำชี้ขาดฉบับวันที่ 12 เมษายน 2556 เกินกว่าระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดทั้ง 2 ฉบับ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการประเทศสหราชอาณาจักร ค.ศ.1996 มาตรา 57 และพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 39 นั้น เห็นว่า ในประเด็นนี้ผู้คัดค้านอ้างในคำคัดค้านแต่เพียงว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 ซึ่งต้องนับจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชั้นต้นฉบับวันที่ 24 กันยายน 2555 และการยื่นอุทธรณ์คำชี้ขาดดังกล่าวเป็นการยื่นของผู้คัดค้านเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น โดยผู้คัดค้านไม่ได้ยกเรื่องความเป็นโมฆะของคำชี้ขาดสองฉบับหลังขึ้นเป็นประเด็นไว้ในคำคัดค้านแต่อย่างใด ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 40 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
สำหรับอุทธรณ์อื่นของผู้คัดค้านทำนองว่า สัญญาขายฝ้ายดิบระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านใช้เงื่อนไข “invoice back” ในอันที่จะได้รับค่าสินค้าโดยไม่ต้องส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ถือเป็นข้อตกลงให้ผู้ซื้อต้องรับผิดมากกว่าที่กฎหมายกำหนดอันถือว่าเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย การตกลงให้ใช้กฎหมายอังกฤษและอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจึงเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย ข้อกำหนดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายอนุญาโตตุลาการและกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแห่งสากลเนื่องจากอนุญาโตตุลาการขาดความอิสระและเป็นกลาง กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศเป็นกระบวนการที่ปราศจากการสืบพยานบุคคล จึงไม่มีการนำเรื่องความผิดปกติของราคาฝ้าย ที่เกิดจากการปั่นราคามาวินิจฉัย ทั้งเมื่อกระบวนการอนุญาโตตุลาการผิดพลาดโดยลงลายมือชื่อไม่ครบองค์คณะ ก็หาทางกลบเกลื่อนแก้ไขสิ่งที่ไม่ชอบให้กลับเป็นชอบ และการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการชั้นอุทธรณ์แต่งตั้งโดยประธานสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศโดยมิได้รับความยินยอมหรือความเห็นจากคู่พิพาทนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน (3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (4) ผู้พิพากษา หรือตุลาการซึ่งพิจารณาคดีนั้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา หรือ (5) เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาทตามมาตรา 16 แต่เมื่อพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวของผู้คัดค้านแล้ว ปรากฏว่าเป็นการอุทธรณ์เกี่ยวกับข้อกำหนดกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศทำนองว่าไม่เป็นสากลและไม่เป็นกลาง กับโต้แย้งในเนื้อหาของสัญญาและดุลพินิจในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านกระทำผิดสัญญาหรือไม่ ซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ อันมิใช่การโต้แย้งกรณีใดกรณีหนึ่งดังที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
อย่างไรก็ตาม เฉพาะส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศฉบับลงวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ของคณะกรรมการอุทธรณ์เทคนิคประกอบกับคำวินิจฉัยชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ในส่วนที่เป็นค่าเสียหายจากการผิดสัญญาที่ให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยจากเงินต้นจำนวน 4,451,041.19 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2556 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง นั้น เห็นว่า ปรากฏจากคำชี้ขาดในข้อ 13 ว่าเงินจำนวน 4,451,041.19 ดอลลาร์สหรัฐ นี้ เป็นยอดรวมของเงินส่วนต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาตลาด และเงินดอกเบี้ยของเงินส่วนต่างดังกล่าวตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับโดยคำนวณในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2556 อันเป็นวันที่มีคำชี้ขาด ดังนั้น ส่วนนี้จึงเป็นการพิพากษาโดยให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด เนื่องจากมีการนำส่วนของดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมารวมเป็นเงินต้นในการคำนวณดอกเบี้ย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสอง ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 40 วรรคสอง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะส่วนค่าเสียหายจากการผิดสัญญาซื้อขาย ให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 4,451,041.19 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4.25 ต่อปี จากเงินต้นจำนวน 3,895,528.20 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ