คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8040/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 180,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 198,000 บาท โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 บรรยายฟ้องอุทธรณ์ด้วยว่า โจทก์ที่ 2 ขอถือทุนทรัพย์ในศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นเงิน 180,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 3 ขอถือเงินจำนวน 198,000 บาท เป็นทุนทรัพย์ที่เรียกร้องเพิ่มไปจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 300,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 330,000 บาท จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าจำเลยที่ 3 ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพของผู้ตายให้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 180,000 บาท ขอให้นำจำนวนเงินดังกล่าวหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นั้น เป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางดาราทิพย์ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 กับนางดาราทิพย์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์ตู้โดยสาร หมายเลขทะเบียน 13-0875 กรุงเทพมหานคร ไปในทางการที่จ้างและเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ตู้โดยสารคันดังกล่าว จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ตู้โดยสารคันดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2545 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ตู้โดยสารคันดังกล่าวไปตามถนนพหลโยธิน จากจังหวัดพิษณุโลกมุ่งหน้าไปกรุงเทพมหานคร โดยรับจ้างบรรทุกผู้โดยสาร 13 คน ซึ่งมีนางดาราทิพย์และโจทก์ที่ 1 โดยสารมาด้วย เมื่อถึงที่เกิดเหตุบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 152 ถึง 153 จำเลยที่ 1 จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์ตู้โดยสารเสียหลักพุ่งลงร่องกลางถนนชนกับต้นไม้เป็นเหตุให้นางดาราทิพย์เสียชีวิต การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ตู้โดยสารคันเกิดเหตุ ทำให้โจทก์ทั้งสามต้องขาดไร้อุปการะ โจทก์ที่ 1 ต้องร่วมกับนางดาราทิพย์ปลดเปลื้องภาระหนี้สินคนละครึ่ง จำนวน 2,000 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 10 ปี คิดเป็นเงิน 240,000 บาท โจทก์ที่ 2 มีอายุ 10 ปี โจทก์ที่ 3 มีอายุ 9 ปี นางดาราทิพย์ให้การอุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษาเป็นเงินคนละ 3,000 บาท ต่อเดือน โจทก์ที่ 2 ต้องขาดไร้อุปการะเป็นเวลา 10 ปี คิดเป็นเงิน 360,000 บาท โจทก์ที่ 3 ต้องขาดไร้อุปการะเป็นเวลา 11 ปี คิดเป็นเงิน 396,000 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด 996,000 บาท แต่โจทก์ทั้งสามขอคิดเพียง 800,000 บาทโจทก์ทั้งสามมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามชำระเงินดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมชำระเงิน 800,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ตู้โดยสารคันเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ตู้โดยสารคันเกิดเหตุ โจทก์ทั้งสามมิได้เป็นทายาทของผู้ตาย ผู้ตายมิได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในคดีนี้ แต่เสียชีวิตจากเหตุอื่น จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และมิได้กระทำตามทางการที่จ้างหรือคำสั่งของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ตู้โดยสารคันเกิดเหตุโดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 และเหตุละเมิดมิได้เกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัยอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ตู้โดยสารคันเกิดเหตุผิดประเภทการใช้งานกับใช้รับส่งผู้โดยสารโดยมิได้รับอนุญาตและไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลหรือใบอนุญาตขับขี่สาธารณะ ซึ่งผู้โดยสารไปในขณะเกิดเหตุก็ทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างดี แต่ผู้โดยสารตกลงยอมเสี่ยงเอง จึงมีส่วนร่วมรับผิดในขณะละเมิดด้วย เหตุละเมิดไม่อยู่ในความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย โจทก์ทั้งสามเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสูงกว่าความเป็นจริง อีกทั้งภาระหนี้สินที่โจทก์ที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับผู้ตายก็ไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนที่จะเรียกร้องได้ตามกฎหมาย หากจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดมีความรับผิดเพียงไม่เกินวงเงินคุ้มครองตามกรมธรรมประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 180,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และชำระเงิน 198,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 และให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสามและระหว่างโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 330,000 บาท แต่จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดไม่เกิน 500,000 บาท ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เฉพาะค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ชนะคดีชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 7,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางดาราทิพย์ผู้ตาย โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรโจทก์ที่ 1 กับผู้ตายตามสำเนาใบสำคัญการสมรสและสูติบัตรเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ตู้โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 13-0875 กรุงเทพมหานคร ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เมื่อถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 152 ถึง 153 ถนนพหลโยธิน รถยนต์ตู้โดยสารคันเกิดเหตุเสียหลักพุ่งลงร่องกลางถนนและชนกับต้นไม้เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามสำเนามรณบัตรเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างและเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เอกสารหมาย จ.6
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาเกินคำขอของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ขอค่าเสียหายเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสามชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 180,000 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กลับพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงินถึง 300,000 บาท เกินกว่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 2 ขอในชั้นอุทธรณ์เป็นเงินถึง 120,000 บาท และโจทก์ที่ 3 เรียกค่าเสียหายเป็นทุนทรัพย์ 198,000 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กลับพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงินถึง 330,000 บาท เกินกว่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 3 ขอเป็นเงินถึง 132,000 บาท นั้นเห็นว่า แม้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 บรรยายว่า ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 180,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 198,000 บาท ก็ตาม แต่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 บรรยายฟ้องอุทธรณ์ด้วยว่า โจทก์ที่ 2 ขอถือทุนทรัพย์ในศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นเงิน 180,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 3 ขอถือเงินจำนวน 198,000 บาท เป็นทุนทรัพย์ที่เรียกร้องเพิ่มไปจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 300,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 330,000 บาท นั้นไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพของนางดาราทิพย์ ให้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 180,000 บาท ขอให้นำจำนวนเงินดังกล่าวหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นั้นเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share