คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 732/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 3 ที่ผู้คัดค้านทั้งสองขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์โดยสารคันเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องรับประกันภัยค้ำจุนตามกรมธรรม์เดียวกัน เกิดเหตุเฉี่ยวชนกรณีเดียวกัน ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองได้รับบาดเจ็บอันเดียวกันกับที่ผู้คัดค้านทั้งสองเสนอข้อพิพาทไว้ตามคำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น คำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 3 เฉพาะส่วนที่เรียกร้องให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง จึงซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2
บริษัท บ. ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์โดยสารไว้กับผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนคนแรก และบริษัท ส. เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนคนที่สอง ดังนั้น ผู้ร้องต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคสาม เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น ผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคหนึ่ง แม้บริษัท ส. จะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 28 แต่ก็ปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ส. โดยไม่ปรากฏว่าบริษัท ส. ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ดี การที่ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 871 เมื่ออนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายที่แท้จริงแก่ผู้คัดค้านทั้งสองคนละ 25,000 บาท แต่ชี้ขาดให้ผู้ร้องเพียงรายเดียวต้องชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวโดยไม่ได้คำนึงว่าผู้คัดค้านทั้งสองได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ส. แล้วจำนวนเท่าใด ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนวินาศจริง จึงเป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านทั้งสองคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายในเวลา 90 วัน ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง และการยื่นคำร้องดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประวิงคดี แต่ต่อมาผู้คัดค้านทั้งสองขอถอนคำคัดค้าน ศาลอนุญาต
ระหว่างพิจารณาผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองแถลงรับข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารแนบท้ายคำร้อง ต่างไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 14 – 8109 กรุงเทพมหานคร และบริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ระหว่างที่กรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับดังกล่าวยังมีผลบังคับ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554 นายสุดชัย ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ฬบข กรุงเทพมหานคร 242 และเสียหลักไปชนเสาไฟฟ้าข้างทางเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งนั่งโดยสารมาได้รับบาดเจ็บ ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2554 ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 143/2554 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 ผู้เสนอข้อพิพาท กับผู้ร้อง คู่กรณี และคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 144/2554 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 ผู้เสนอข้อพิพาท กับผู้ร้อง คู่กรณีโดยขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต่อมาผู้คัดค้านทั้งสองได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทขอให้ผู้ร้องและบริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในเรื่องเดียวกันเป็นคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2555 อนุญาโตตุลาการมีคำสั่งให้รวมข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 143/2554 กับ 144/2554 และ 93/2555 เข้าด้วยกันแล้วมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสองคนละ 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องประการแรกว่า คำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2555 ซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 143/2554 และ 144/2554 หรือไม่ เห็นว่า คำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 143/2554 และ 144/2554 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ เสนอข้อพิพาทให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์โดยสารที่ผู้ร้องรับประกันภัยค้ำจุนเกิดเหตุเฉี่ยวชนทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองได้รับบาดเจ็บ ส่วนคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2555 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เสนอข้อพิพาทที่ 1 และที่ 3 ให้ผู้ร้องกับบริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด คู่กรณีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์โดยสารคันเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องรับประกันภัยค้ำจุนตามกรมธรรม์เดียวกัน เกิดเหตุเฉี่ยวชนกรณีเดียวกัน ทำให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้รับบาดเจ็บอันเดียวกันกับที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 143/2554 และ 144/2554 ดังนั้น คำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2555 เฉพาะส่วนที่เรียกร้องให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสองจึงซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 143/2554 และ 144/2554 คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นส่วนนี้ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องประการสุดท้ายมีว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสองคนละ 25,000 บาท ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า บริษัทเกลียวเวิลด์ จำกัด ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 14 – 8109 กรุงเทพมหานคร เป็นสองรายเพื่อความวินาศภัยอันเดียวกัน โดยทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนกับผู้ร้องวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 ตามสำเนากรมธรรม์และทำสัญญาประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กับบริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด วันที่ 15 กรกฎาคม 2554 เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้นผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 870 วรรคหนึ่ง แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนแรกต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ตามมาตรา 870 วรรคสาม หรือแม้บริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 20 แต่คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด โดยไม่ปรากฏว่าบริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ดี การที่ผู้รับประโยชน์ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่ง ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 871 เมื่ออนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายที่แท้จริงแก่ผู้คัดค้านทั้งสองคนละ 25,000 บาท แต่ชี้ขาดให้ผู้ร้องเพียงรายเดียวต้องชำระค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนแก่ผู้คัดค้านทั้งสองคนละ 25,000 บาท โดยไม่ได้คำนึงว่าผู้คัดค้านทั้งสองได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด แล้วจำนวนเท่าใด ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนวินาศจริง จึงเป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้ออ้างตามคำร้องส่วนนี้เป็นการโต้เถียงดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของอนุญาโตตุลาการ จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้นในส่วนผล
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 143 – 145/2554 และ 93/2555 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 63 – 65/2556 ลงวันที่ 5 เมษายน 2556 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share