แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ผู้ใดจะเป็นผู้ทรงเช็คตามกฎหมายย่อมต้องถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานะเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลังถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ผู้ถือก็นับว่าเป็นผู้ทรงเช่นกัน ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏขณะที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่าย ผู้ทรงเช็คพิพาทในขณะนั้นคือ พ. น. และ จ. หาใช่โจทก์ร่วมซึ่งมีฐานะเป็นบุคคลต่างหากจากบุคคลทั้งสามไม่ แม้บุคคคลทั้งสามจะมีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ร่วมในการรับเช็คพิพาทมาดังที่โจทก์ร่วมกล่าวอ้างก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์ร่วมมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าขณะที่ธนาคารตามเช็คพิพาทปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาท โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ย่อมไม่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทรัชดาศูนย์รวมวัสดุ จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เป็นความผิด 10 กรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 20 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เช็คพิพาทจำนวน 10 ฉบับ ตามฟ้องเป็นเช็คขีดคร่อมมีจำเลยเป็นผู้ลงชื่อสั่งจ่ายตามเช็คเอกสารหมาย จ.5 จ.7 จ.9 จ.11 จ.13 จ.15 จ.19 จ.21 และ จ.23 โดยระบุชื่อวิพงษ์ วินัย – วิจิตร หรือผู้ถือ จำนวน 2 ฉบับ และอีก 8 ฉบับ มีการขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออกมีแต่ชื่อวิพงษ์ – วินัย – วิจิตร เป็นผู้รับเงิน เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงินมีการนำเช็คเข้าบัญชีของนายวิพงษ์ – วินัย – วิจิตร ตามบัญชีเลขที่ 068-2-16XXX-X ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสาธุประดิษฐ์ เพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน นายวิพงษ์ นายวินัย และนายวิจิตรมีนามสกุลเดียวกัน และต่างเป็นกรรมการของบริษัทโจทก์ร่วม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทในขณะที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินหรือไม่ โดยโจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยได้ซื้อสินค้าไปจากโจทก์ร่วมและได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ร่วมมิใช่เป็นการชำระหนี้แก่กรรมการของโจทก์ร่วม เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มิใช่บุคคลที่ระบุไว้ในเช็คพิพาทแต่อย่างใด โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและมีอำนาจเป็นโจทก์ร่วมได้ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ผู้ใดจะเป็นผู้ทรงเช็คตามกฎหมายย่อมต้องถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ผู้ถือก็นับว่าเป็นผู้ทรงเช่นกัน ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏขณะที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่าย ผู้ทรงเช็คพิพาทในขณะนั้นคือ นายวิพงษ์ นายวิชัย และนายวิจิตร หาใช่โจทก์ร่วมซึ่งมีฐานะเป็นบุคคลต่างหากจากบุคคลทั้งสามไม่แม้บุคคลทั้งสามจะมีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ร่วมในการรับเช็คพิพาทมาดังที่โจทก์ร่วมกล่าวอ้างก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์ร่วมมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าขณะที่ธนาคารตามเช็คพิพาทปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาท โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ย่อมไม่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ร่วมอ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ฎีกาของโจทก์ร่วมข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน