คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 561/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนงให้จัดทำแผนที่พิพาท เพื่อให้ทราบว่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 17 ก่อสร้างรุกล้ำแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 4 ถึง 6 สิงหาคม 2547 นัดสืบพยานจำเลยวันที่ 10, 11 และ 13 สิงหาคม 2547 หลังจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ส่งแผนที่พิพาทมายังศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำแถลงขอระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมลงวันที่ 7 มิถุนายน 2547 ขออ้าง ส. เจ้าหน้าที่ฝ่ายหลักประกันและจดจำนองของธนาคาร ก. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในการทำแผนที่พิพาท และ ฉ. เจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำการรังวัดแผนที่พิพาท ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2547 โจทก์ทั้งสองยื่นคำแถลงขอระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมดังกล่าวเข้ามาอีก โดยแถลงว่าประสงค์จะสืบพยานบุคคลทั้งสองแทนพยานบุคคลสองอันดับที่ได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกไปแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบกับวันนัดพยานโจทก์ที่ได้กำหนดไว้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีเจตนาประวิงคดี ประกอบกับแผนที่พิพาทไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ถูกรุกล้ำ โจทก์ทั้งสองจึงอาจจำเป็นต้องนำพยานบุคคลที่เห็นว่าเป็นกลางมานำสืบเพื่อให้ได้ความชัดเจน ซึ่งไม่ทำให้จำเลยทั้งสามเสียเปรียบ เพราะจำเลยทั้งสามมีสิทธิถามค้านและนำพยานของตนเข้าสืบแก้ได้ การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมกรณีเช่นนี้ ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสองไม่อาจเสนอข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญแห่งคดีและอาจทำให้รูปคดีของโจทก์ทั้งสองเสียหายได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนอาคารพาณิชย์เลขที่ 17 ส่วนที่มีการก่อสร้างต่อเติมออกไปทั้งหมด และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำแนวเขตที่ดินของโจทก์ โฉนดเลขที่ 241052 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ออกไป ให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 2,528,675 บาท และค่าเสียหายรายเดือนนับแต่เดือนมีนาคม 2545 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 210,000 บาท และนับจากวันฟ้องในอัตราเดือนละ 30,000 บาท จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะดำเนินการซ่อมอาคารแล้วเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น เลขที่ 19 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 241052 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น เลขที่ 17 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 241051 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร อาคารพาณิชย์ของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 อยู่ติดกัน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ของตนดังกล่าวให้แก่นายแสงชัย ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ล.6 ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2543 นายแสงชัยต่อเติมอาคารพาณิชย์เป็น 6 ชั้น ต่อเติมระเบียงด้านหน้าชั้นที่ 2 เป็นห้อง ต่อเติมอาคารชั้นลอยจนเต็ม และปลูกสร้างอาคาร 4 ชั้น ลงในพื้นที่ว่างด้านหลังอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น พนักงานอัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายแสงชัยในความผิดฐานต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต
ปัญหาประการแรกที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่านายแสงชัยเป็นผู้ต่อเติมอาคารพาณิชย์เลขที่ 17 ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดจึงพิพากษายกฟ้องเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 31 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดจัดให้มีหรือดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาตหรือให้ผิดไปจากที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา 39 ทวิ เว้นแต่ (1) เจ้าของอาคารนั้นได้ยื่นคำขออนุญาตและได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้…” ดังนี้ เจ้าของอาคารจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องงดเว้นไม่จัดให้มีหรือดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารที่ตนเป็นเจ้าของจนกว่าจะได้ยื่นคำขออนุญาตและได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว ฉะนั้นหากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการต่อเติมดังกล่าวทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ก็ต้องถือว่านายแสงชัยรวมทั้งเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารนั้นร่วมกันกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 432 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องผู้ร่วมกระทำละเมิดดังกล่าวทุกคนหรือคนใดคนหนึ่งให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ และหากการต่อเติมนั้นรุกล้ำแดนกรรมสิทธิ์ โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษารื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 และหากเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสองจะประสบความเสียหายอันพึงเกิดจากการต่อเติมอาคารพาณิชย์ดังกล่าวโจทก์ทั้งสองก็ยังชอบที่จะเรียกให้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 435 อันเป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยนอกเหนือจากชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ของตนให้แก่นายแสงชัย กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพาณิชย์นั้นยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าเป็นผู้ครอบครองและแสดงออกต่อบุคคลภายนอกว่าเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่หาใช่เมื่อนายแสงชัยเป็นผู้ต่อเติมอาคารดังกล่าวแล้วจะมีผลทำให้จำเลยทั้งสามในฐานะเจ้าของอาคารและผู้ครอบครองอาคารหลุดพ้นจากความรับผิดในทางละเมิดไปโดยปริยายไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามมิได้กระทำละเมิดมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาประการต่อมาที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ศาลชั้นต้นไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสองฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2547 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันต่อเติมอาคารพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมาย เป็นเหตุให้อาคารพาณิชย์ของโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย และการต่อเติมอาคารพาณิชย์ของจำเลยทั้งสามดังกล่าวบางส่วนได้รุกล้ำแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและขอให้รื้อถอนอาคารพาณิชย์ส่วนที่มีการต่อเติมอันเป็นเหตุแห่งความเสียหายออกไปทั้งหมด รวมถึงส่วนที่รุกล้ำแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองด้วย ในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ให้ดำเนินการจัดทำแผนที่พิพาท เพื่อให้ทราบว่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 17 ก่อสร้างรุกล้ำแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และออกคำสั่งแก่คู่ความว่า ศาลชั้นต้นจะดำเนินการพิจารณาคดีเป็นการต่อเนื่อง โดยจะพิจารณาคดีติดต่อกันทั้งวัน ไม่มีการเลื่อนคดีอีกไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ กำหนดนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 4 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2547 กำหนดนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 10, 11 และวันที่ 13 สิงหาคม 2547 ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2546 ต่อมาสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ส่งแผนที่พิพาทมายังศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 โจทก์ทั้งสองประสงค์จะอ้างอิงนายสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายหลักประกันและจดจำนองธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่โจทก์อ้างว่าเป็นประจักษ์พยานสำคัญในการทำแผนที่พิพาท และนายเฉลิมศักดิ์ ซึ่งโจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดินผู้ทำการรังวัดทำแผนที่พิพาทในคดีนี้ โจทก์ทั้งสองจึงยื่นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมตามคำแถลงและบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2547 อันดับ 1 และ 2 แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2547 โจทก์ทั้งสองยื่นคำแถลงขอระบุพยานดังกล่าวเข้ามาอีก ตามคำแถลงและบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมลงวันที่ 16 มิถุนายน 2547 อันดับ 1 และ 2 โดยโจทก์ทั้งสองแถลงว่า โจทก์ทั้งสองประสงค์จะนำพยานบุคคลทั้งสองที่ขอระบุเพิ่มเติมมาเบิกความต่อศาลแทนพยานบุคคลอันดับ 4 และ 5 ตามบัญชีระบุพยานฉบับลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 ที่ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ที่ได้กำหนดไว้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีเจตนาประวิงคดี ประกอบกับแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.23 ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ถูกรุกล้ำ โจทก์ทั้งสองจึงอาจจำเป็นต้องนำพยานบุคคลที่ตนเห็นว่าเป็นกลางมานำสืบเพื่อให้ได้ความชัดเจน ซึ่งไม่ทำให้จำเลยทั้งสามเสียเปรียบในเชิงคดีแต่ประการใด เพราะจำเลยทั้งสามมีสิทธิถามค้านและนำพยานของตนเข้าสืบแก้ได้ การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองระบุพยานเพิ่มเติมในกรณี เช่นนี้ ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสองไม่อาจเสนอข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาจทำให้รูปคดีของโจทก์ทั้งสองเสียหาย จึงมีเหตุจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) ประกอบด้วยมาตรา 247 ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลฎีกายังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นเนื้อหาแห่งคดีนี้โดยให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ดังนั้น จึงเห็นสมควรให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาในส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสองฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2547 แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่เฉพาะประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาในส่วนที่เกินชั้นละ 200 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากที่สั่งคืนดังกล่าวให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share