แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลและคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดเป็นจำเลยที่ 2ที่ 3 ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้คณะกรรมการดังกล่าวมีสภาพเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่อยู่ในฐานะที่ถูกฟ้องร้องได้ และฟ้องโจทก์แปลความไม่ได้ว่า โจทก์ฟ้องตัวบุคคลที่ประกอบเป็นคณะกรรมการเพราะโจทก์มิได้ระบุชื่อเป็นรายบุคคล โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2ที่ 3 ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่นาพิพาทเป็นผู้บอกเลิกการเช่าแก่โจทก์เมื่อโจทก์เห็นว่าการบอกเลิกการเช่าไม่ชอบ จำเลยที่ 1จึงเป็นผู้โต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับการเช่าที่นาพิพาทกับโจทก์ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ให้โจทก์เช่าที่นาพิพาทต่อไปได้ทั้งนี้โดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาตรา 57 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ในกรณีที่โจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เดิมนายพักสามีโจทก์เช่านาจากกองมรดกของม.ร.ว.สุวพรรณ ต่อมานายพักถึงแก่กรรมโจทก์ขอเช่านาต่อ โดยผู้ให้เช่าตกลงแล้ว แต่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินดังกล่าวมาจากกองมรดกของ ม.ร.ว.สุวพรรณ และบอกเลิกการเช่านาของนายพัก โจทก์จึงคัดค้านต่อจำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งวินิจฉัยว่าโจทก์หมดสิทธิการเช่า ขอให้บังคับจำเลยที่ 1ปฏิบัติตามสัญญาเช่านาเดิม และเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2ที่ 3 จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 57 และขอให้บังคับโจทก์ออกจากที่พิพาท จำเลยที่ 2 และ 3 ให้การว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 หมายถึงใคร คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 2ที่ 3 ไม่มีสภาพบุคคล โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ตกไป โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า “…วันที่ 2 สิงหาคม 2528โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ต่อจำเลยที่ 3… ต่อมาจำเลยที่ 3 ก็ได้มีหนังสือถึงโจทก์เรื่องแจ้งคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2528 โดยแจ้งว่า เมื่อวันที่28 สิงหาคม 2528 จำเลยที่ 3 ได้มีมติวินิจฉัยให้โจทก์หมดสิทธิการเช่าที่นาตามมาตรา 29 และมาตรา 31(1) แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524…” ข้อความดังกล่าวหาได้มีความหมายว่า โจทก์ได้ทราบคำสั่งของจำเลยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2528 แล้วไม่ แต่ข้อความดังกล่าวสามารถแปลความหมายได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้มีหนังสือถึงโจทก์ หนังสือดังกล่าวเป็นเรื่องแจ้งคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 ลงวันที่ 5กันยายน 2528 และเมื่อตรวจดูหนังสือของกรรมการและเลขานุการคชก. จังหวัดปทุมธานี เรื่องแจ้งคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดปทุมธานีถึงโจทก์ฉบับท้ายฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องแล้ว เป็นหนังสือที่ลงวันที่ 5 กันยายน 2528 และไม่มีลายมือชื่อโจทก์รับทราบคำวินิจฉัยในหนังสือดังกล่าวไว้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทราบคำวินิจฉัยดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2528 แล้ว และหนังสือดังกล่าวนี้จะต้องส่งไปถึงโจทก์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวงอีกทีหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยแล้วตั้งแต่วันที่5 กันยายน 2528 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2528 เกินกำหนด 30 วัน คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา คดียังต้องฟังพยานหลักฐานต่อไปว่า โจทก์ทราบคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดปทุมธานี ในวันใดแน่ ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามได้หรือไม่นั้น ในข้อนี้ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยไว้ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยซึ่งจะทำให้ล่าช้า ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มิได้กล่าวมาโดยชัดเจนว่าเป็นคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลอะไร จังหวัดอะไรเป็นแต่กล่าวมาลอย ๆ ทั้งการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเพียงบัญญัติว่าคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล (คชก.ตำบล) ก็ดี คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด (คชก.จังหวัด) ก็ดี ประกอบด้วยบุคคลใดบ้าง ไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้คณะกรรมการดังกล่าวมีสภาพเป็นนิติบุคคลหรือเป็นบุคคลธรรมดาแต่อย่างใดจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาอันจะอยู่ในฐานะที่ถูกฟ้องร้องได้ และฟ้องโจทก์แปลความไม่ได้ว่า โจทก์ฟ้องตัวบุคคลที่ประกอบเป็นคณะกรรมการเพราะโจทก์มิได้ระบุชื่อเป็นรายบุคคล โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชอบแล้ว ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 57 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ในกรณีที่โจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดจำเลยที่ 1 เจ้าของที่พิพาทเป็นผู้บอกเลิกการเช่านาแก่โจทก์โจทก์เห็นว่าการบอกเลิกการเช่าไม่ชอบ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้โต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับการเช่าที่นาพิพาทกับโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ได้เช่านาพิพาทต่อไปตามฟ้องได้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ได้ด้วยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี