แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหาย มีหน้าที่รับเงินผู้เสียหายไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ จำเลยรับเงินจากผู้เสียหายหลายครั้ง แล้วเบียดบังเอาเงินของผู้เสียหายรวม 260,597.80 บาท ไปเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต แม้ระยะเวลาที่จำเลยยักยอกเงินในแต่ละครั้งจะไม่ห่างกันมาก แต่การที่จำเลยยักยอกเงินผู้เสียหายในแต่ละครั้งก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
หนังสือรับสภาพหนี้มีเนื้อความว่าจำเลยเป็นหนี้เนื่องจากยักยอกเงินของผู้เสียหายไป โดยจำเลยตกลงจะผ่อนชำระคืนให้เป็นงวดๆ ซึ่งมีผลผูกพันกันในทางแพ่งและเป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่ง เมื่อไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมไม่ระงับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352 ให้จำเลยคืนเงิน 260,597.80 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานจำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือนรวม 35 กระทง เป็นจำคุก 70 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 35 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 260,597.80 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 เดือน รวมจำคุก 35 เดือน ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 17 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวกันหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างวาระกัน ฟ้องโจทก์จึงประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในการกระทำความผิดสำเร็จแต่ละครั้ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมหมายความว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดฐานยักยอกในแต่ละครั้งตามที่โจทก์บรรยายฟ้องแล้ว แม้พฤติการณ์และรูปแบบในการกระทำความผิดจะเป็นอย่างเดียวกัน และระยะเวลาในการกระทำผิดไม่ห่างกันมากดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่การที่จำเลยยักยอกเงินของผู้เสียหายในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์แต่ละข้อย่อมเป็นความผิดสำเร็จแต่ละครั้งแล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องโจทก์แต่ละข้อแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ ผู้เสียหายกับจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ อันเป็นการยอมความกันนั้น เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้ มีใจความว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ผู้เสียหายเนื่องจากได้กระทำทุจริตยักยอกเงินค่าไม้และวัสดุก่อสร้างของผู้เสียหายไป เป็นเงิน 260,597.80 บาท จำเลยตกลงชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหาย วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 100,000 บาท วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 80,289.90 บาท และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 80,289.90 บาท หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้ผู้เสียหายเรียกเงินส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 10 และยินยอมให้แจ้งความดำเนินคดีฐานทุจริตยักยอกเงินของผู้เสียหาย ดังนี้ ข้อตกลงตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่จำเลยรับว่าเป็นหนี้ผู้เสียหายในเงินที่จำเลยยักยอกไปและจะชดใช้หนี้ให้ผู้เสียหายโดยวิธีการผ่อนชำระเท่านั้น ซึ่งมีผลผูกพันกันทางแพ่งและเป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (2) ที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน