แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69 จำคุก 2 ปี และริบมีดของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะบทกฎหมายที่ลงโทษเป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ส่วนโทษจำคุกยังคงเท่ากับที่ศาลชั้นต้นกำหนด เป็นการแก้ไขเล็กน้อยเมื่อศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ฎีกาขอให้รอการลงโทษเป็นเรื่องโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69 ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี โจทก์มิได้อุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกัน จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 แม้ศาลอุทธรณ์ฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่น มิใช่เป็นการป้องกันสิทธิของจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยหนักกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้มิได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ศาลอุทธรณ์คงมีอำนาจวางบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยให้อาวุธมีดพกปลายแหลมแทงทำร้ายนางดาวรุ่ง ทองน่วม ผู้ตายโดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ริบของกลาง
จำเลยให้การว่า จำเลยแทงผู้ตายเพื่อป้องกันตัว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๖๙ จำคุก ๒ ปี ริบมีดของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ส่วนกำหนดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฎีกาของจำเลยนั้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๖๙ จำคุก ๒ ปี และริบมีดของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะบทกฎหมายที่ลงโทษเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ส่วนโทษจำคุกยังคงเท่ากับที่ศาลชั้นต้นกำหนด ดังนี้เป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตารา ๒๑๘ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยใช้มีดของกลางแทงผู้ตายทางด้านหลัง ๒ ที ในขณะที่ผู้ตายกำลังยืนพูดกับบุคคลอื่นอยู่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกัน ที่จำเลยฎีกาว่าผู้ตายทำร้ายจำเลยก่อน จำเลยจึงแทงผู้ตาย ๑ ที เพื่อป้องกันตัว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด เป็นเรื่องโต้แย้งในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง และที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยด้วยนั้นเป็นเรื่องโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์อัน เป็นปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นแล้ว ก็ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะต้องกำหนดโทษให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพราะมิใช่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๖๙ ให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนด ๒ ปี โจทก์มิได้อุทธรณ์เมื่อจำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุซึ่งจำเลยไม่มี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ แม้ศาลอุทธรณ์ฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่น มิใช่เป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยซึ่งจะต้องเป็นเหตุให้จำเลยได้รับโทษหนักขึ้นตามบทกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษก็ตาม กรณีก็ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ ที่บัญญัติว่า “คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น” ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อขอเพิ่มโทษจำเลย ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาลงโทษจำเลยหนักกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้มิได้เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ศาลอุทธรณ์คงมีอำนาจที่จะวางบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องเท่านั้น
พิพากษายืน