คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 123/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะขายที่ดินสองแปลงให้จำเลยในสัญญาฉบับเดียวกัน แปลงแรกโฉนดเลขที่ 89385 เป็นชื่อโจทก์ที่ 1 แปลงที่สองโฉนดเลขที่ 89384 เป็นชื่อโจทก์ที่ 2 ในราคา 2,000,000 บาทและ 600,000 บาท ตามลำดับ โจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 89385 ให้จำเลยเรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยยังชำระราคาไม่ครบ โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องเรียกราคาที่ดินแปลงของโจทก์ที่ 1เช่นนี้ โจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียวมีอำนาจฟ้อง ส่วนโจทก์ที่ 2 หามีส่วนได้เสียไม่ และไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระราคาที่ดิน โจทก์ที่ 2 จึงมิได้ถูกโต้แย้งสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองร่วมกันทำสัญญาจะขายที่ดินให้จำเลยรวมสองโฉนด โฉนดเลขที่ 89385 เนื้อที่ 1 ไร่ 75ตารางวา และโฉนดเลขที่ 89384 เนื้อที่ 2 งาน ในราคา 2,000,000 บาทและ 600,000 บาท ตามลำดับ โจทก์ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 89385 ให้จำเลย แต่จำเลยชำระราคาที่ดินเพียง 900,000บาท ที่เหลือสั่งจ่ายเช็ค 9 ฉบับ ฉบับละ 100,000 บาท เช็คขึ้นเงินได้เพียง 1 ฉบับ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินที่ค้างแล้ว จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับให้จำเลยชำระราคาที่ที่ดินที่ค้างพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 89385 ให้จำเลยและรับเงินค่าที่ดินไปครบถ้วนแล้วแต่โจทก์ที่ 2 ไม่ยอมจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 89384 ให้จำเลยตามราคาที่ตกลงกันไว้ โจทก์ที่ 2 ไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิ ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความรับกันว่า โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะขายที่ดินให้จำเลยสองแปลง ที่ดินแปลงแรกโฉนดเลขที่ 89385 เป็นชื่อของโจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียว ราคา 2,000,000 บาท แปลงที่ 2 เป็นชื่อของโจทก์ที่ 2 แต่ผู้เดียว โฉนดเลขที่ 89384 ราคา 600,000 บาท จำเลยวางมัดจำในวันทำสัญญา 100,000 บาท ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงของตนให้จำเลยเรียบร้อยแล้วในวันที่ 4 มิถุนายน2524
สำหรับปัญหาข้อแรกที่ว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้นปรากฏว่าที่ดินทั้งสองแปลงที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะขายให้จำเลยนั้น โจทก์ทั้งสองต่างเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินคนละแปลง ที่ดินแปลงของโจทก์ที่ 1 นั้น โจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายให้จำเลยไปเรียบร้อยแล้ว โจทก์ทั้งสองมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เรียกราคาที่ดินแปลงของโจทก์ที่ 1 ซึ่งจำเลยยังค้างชำระอยู่ เช่นนี้ โจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียวมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้เพราะโจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินราคาขายที่ดินแปลงดังกล่าวเนื่องจากเป็นเจ้าของและผู้ขายที่ดิน ส่วนโจทก์ที่ 2หาได้มีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวแต่ประการใดไม่ย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระราคาที่ดิน ดังนั้นสิทธิของโจทก์ที่ 2 จึงมิได้ถูกโต้แย้งแต่ประการใด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นชอบแล้ว แม้โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะขายที่ดินของโจทก์ทั้งสองให้จำเลยในสัญญาจะซื้อขายฉบับเดียวกัน ก็หาทำให้โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องเรียกราคาที่ดินของโจทก์ที่ 1 ได้ไม่ ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น…’
พิพากษายืน.

Share