แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลมีคำสั่ง…” และตามมาตรา 53 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 หากปรากฏในภายหลังโดยคำร้องของเจ้าของ ผู้รับโอน หรือผู้รับประโยชน์ทรัพย์สินนั้น ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า กรณีต้องด้วยบทบัญญัติของมาตรา 50 ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้น…” และในวรรคสองบัญญัติว่า “คำร้องตามวรรคหนึ่งจะต้องยื่นภายในหนึ่งปีนับแต่คำสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด และผู้ร้องต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านตามมาตรา 50 ได้ เพราะไม่ทราบถึงประกาศหรือหนังสือแจ้งของเลขาธิการหรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น” ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า ผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนได้ 2 กรณี กล่าวคือ กรณีแรกต้องยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 50 วรรคสอง และกรณีที่สองยื่นคำร้องภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 53 โดยผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องภายใน 1 ปี นับแต่คำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด และพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านได้ก่อนศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะไม่ทราบถึงประกาศหรือหนังสือแจ้งของเลขาธิการ หรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น
ข้อเท็จจริงได้ความว่า มีการส่งหนังสือแจ้งประกาศของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2546 เรื่อง ประกาศศาลแพ่ง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ไปยังสำนักงานใหญ่ของผู้คัดค้านที่ 6 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2546 ซึ่งมีพนักงานของผู้คัดค้านที่ 6 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเอกสารดังกล่าวไว้แทน ย่อมถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 6 ทราบถึงประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในวันที่ 2 ธันวาคม 2547 ภายหลังจากที่ผู้คัดค้านที่ 6 ทราบประกาศดังกล่าวแล้วเกือบ 1 ปี ผู้คัดค้านที่ 6 ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ แต่ผู้คัดค้านที่ 6 กลับมิได้ดำเนินการยื่นคำร้องภายในระยะเวลาดังกล่าว การที่ผู้คัดค้านที่ 6 เพิ่งมายื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน นานถึง 2 เดือน 16 วัน ผู้คัดค้านที่ 6 จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านก่อนศาลมีคำสั่งได้เพราะไม่ทราบถึงประกาศหรือหนังสือแจ้งของเลขาธิการ หรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น เมื่อไม่ปรากฏเหตุขัดข้องใด ๆ ในคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 6 ประกอบกับในวันนัดไต่สวน ทนายผู้คัดค้านที่ 6 แถลงรับว่าจะนำสืบเฉพาะประเด็นความสุจริตในการรับจำนองที่ดินพิพาทเท่านั้น ทั้งผู้คัดค้านที่ 6 ทราบถึงประกาศของศาลชั้นต้น ถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 6 ไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นว่า เหตุใดจึงไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านตามมาตรา 50 ได้ ดังนั้นกรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะรับไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 53 วรรคสอง ผู้คัดค้านที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านดังกล่าว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2547 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินรวมทั้งดอกผล ตกเป็นของแผ่นดินเพราะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านที่ 1 ต่อมาผู้คัดค้านที่ 6 ยื่นคำร้องคัดค้านลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 คัดค้านการยึดทรัพย์สินดังกล่าวเฉพาะที่ดินตามโฉนดเลขที่ 82314 ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ผู้คัดค้านที่ 6 รับจำนองเป็นประกันเงินกู้ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องคัดค้าน ผู้คัดค้านที่ 6 ยอมรับว่ามีการส่งหนังสือแจ้งประกาศของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2546 เรื่องประกาศศาลแพ่ง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ไปยังสำนักงานใหญ่ของผู้คัดค้านที่ 6 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2546 ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่พิพาทตกเป็นของแผ่นดิน ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 6 แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านที่ 6 ยื่นคำร้องคัดค้านตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 53 เป็นการเริ่มคดีใหม่จึงให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งต่อไป
ศาลชั้นต้นงดไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 14,126 บาท แก่ผู้คัดค้านที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านที่ 6 ยื่นคำร้องคัดค้านเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 โดยขอให้ศาลยกคำร้องเฉพาะทรัพย์พิพาทหรือให้ถอนการยึดหรือหากมีการขายทอดตลาดก็ขอให้ได้รับชำระหนี้ก่อนบุคคลอื่น และในวันนัดไต่สวนคำร้องคัดค้าน ผู้คัดค้านที่ 6 ยอมรับว่ามีการส่งหนังสือแจ้งประกาศของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2546 เรื่องประกาศศาลแพ่ง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ไปยังสำนักงานใหญ่ของผู้คัดค้านที่ 6
ปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 6 มีว่า ผู้คัดค้านที่ 6 มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านฉบับลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม มาตรา 49 อาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลมีคำสั่ง…” และตามมาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 หากปรากฏในภายหลังโดยคำร้องของเจ้าของ ผู้รับโอน หรือผู้รับประโยชน์ทรัพย์สินนั้น ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า กรณีต้องด้วยบทบัญญัติของมาตรา 50 ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้น…” และในวรรคสองบัญญัติว่า “คำร้องตามวรรคหนึ่งจะต้องยื่นภายในหนึ่งปีนับแต่คำสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด และผู้ร้องต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านตามมาตรา 50 ได้ เพราะไม่ทราบถึงประกาศหรือหนังสือแจ้งของเลขาธิการหรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น” ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า ผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนได้ 2 กรณี กล่าวคือ กรณีแรกต้องยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 50 วรรคสอง และกรณีที่สองยื่นคำร้องภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 53 โดยผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องภายใน 1 ปี นับแต่คำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด และพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านได้ก่อนศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะไม่ทราบถึงประกาศหรือหนังสือแจ้งของเลขาธิการ หรือ มีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า มีการส่งหนังสือแจ้งประกาศของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2546 เรื่อง ประกาศศาลแพ่ง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ไปยังสำนักงานใหญ่ของผู้คัดค้านที่ 6 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2546 ซึ่งมีพนักงานของผู้คัดค้านที่ 6 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเอกสารดังกล่าวไว้แทน ย่อมถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 6 ทราบถึงประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในวันที่ 2 ธันวาคม 2547 ภายหลังจากที่ผู้คัดค้านที่ 6 ทราบประกาศดังกล่าวแล้วเกือบ 1 ปี ผู้คัดค้านที่ 6 ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ แต่ผู้คัดค้านที่ 6 กลับมิได้ดำเนินการยื่นคำร้องภายในระยะเวลาดังกล่าว การที่ผู้คัดค้านที่ 6 เพิ่งมายื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินนานถึง 2 เดือน 16 วัน ผู้คัดค้านที่ 6 จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านก่อนศาลมีคำสั่งได้เพราะไม่ทราบถึงประกาศหรือหนังสือแจ้งของเลขาธิการ หรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น เมื่อไม่ปรากฏเหตุขัดข้องใด ๆ ในคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 6 ประกอบกับในวันนัดไต่สวน ทนายผู้คัดค้านที่ 6 แถลงรับว่าจะนำสืบเฉพาะประเด็นความสุจริตในการรับจำนองที่ดินพิพาทเท่านั้น ทั้งผู้คัดค้านที่ 6 ทราบถึงประกาศของศาลชั้นต้นดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 6 ไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นว่า เหตุใดจึงไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านตามมาตรา 50 ได้ ดังนั้นกรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะรับไว้พิจารณาตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 53 วรรคสอง ผู้คัดค้านที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ