คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5658/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่มาในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
การพิสูจน์สิทธิความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม จำต้องพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานต่างๆ ที่คู่ความนำสืบต่อศาล เพื่อแสดงถึงสิทธิและการได้มาของโจทก์ว่ามีลำดับความเป็นมาอย่างไร ลำพังบันทึกการแบ่งที่ดินพิพาทซึ่งระบุว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันซื้อมาเพียงฉบับเดียวไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานที่จะอ้างอิงเพื่อที่จะยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น และมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่อยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 94 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานมานำสืบพิสูจน์ได้ว่าที่ดินพิพาทโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอย่างไร ทั้งโจทก์ก็มิได้ตั้งรูปคดีอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 2 โดยอาศัยข้อความจากบันทึกดังกล่าวแต่ประการใด
จำเลยที่ 2 ตั้งบริษัท ล. และจำเลยที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ในบริเวณที่ตั้งของบริษัทดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทจนมีบุตรด้วยกันถึงเก้าคนและโจทก์ได้ร่วมช่วยเหลือกิจการของบริษัท ล. แม้โจทก์เป็นภริยานอกสมรสก็ต้องถือว่าที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน การที่จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่เพียงผู้เดียวก็เป็นการกระทำแทนโจทก์เท่านั้น ดังนี้ โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง
เมื่อที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงที่จำเลยที่ 2 ได้มาเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาททั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์อีกคนหนึ่งมิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินทั้งสี่แปลงตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ครึ่งหนึ่ง และเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งปลอดภาระติดพันให้โจทก์โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการโอนทั้งสิ้น หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนเอง ถ้าจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินโดยปลอดภาระติดพันให้โจทก์ได้ ก็ให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงิน 73,537,500 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม นางสาวสุมาลี บุตรของจำเลยที่ 2 ซึ่งเกิดจากโจทก์ และนางดวงจิต บุตรของจำเลยที่ 2 ซึ่งเกิดจากจำเลยที่ 1 ต่างยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้นางดวงจิต เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6691 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินโฉนดเลขที่ 4791, 26946 และ 26947 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 2 โอนให้แก่จำเลยที่ 1 เฉพาะส่วนที่เป็นของโจทก์หนึ่งในสามส่วน ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวให้โจทก์หนึ่งในสามส่วนโดยปลอดจากภาระติดพัน โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้ และค่าใช้จ่ายในการโอนหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ถ้าจำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 49,025,000 บาท ทั้งนี้นางดวงจิต ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกตกทอดให้แก่ตนกับให้จำเลยทั้งสองรวมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6691 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ กับที่ดินโฉนดเลขที 4791, 26946 และ 26947 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 2 โอนให้แก่จำเลยที่ 1 เฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หนึ่งในสองส่วน ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์หนึ่งในสองส่วนโดยปลอดภาระติดพัน โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้และค่าใช้จ่ายในการโอน ถ้าจำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 65,000,000 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 160,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อเดิม “ฉุ่งยิ้น” ส่วนจำเลยที่ 2 มีชื่อเดิมว่า “แต้” และ “เต้น” จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2483 หลังจากนั้นประมาณ 10 ปี จำเลยที่ 2 ได้โจทก์เป็นภริยาอีกคนหนึ่งแต่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 2 พาโจทก์ไปพักอาศัยที่บ้านในบริเวณโรงงานจิ้นเส็งย่านสะพานเหลือง แขวงหัวลำโพง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการตัดเย็บรองเท้าอยู่ก่อนแล้ว และหลังจากนั้นจำเลยที่ 2 พาโจทก์ไปพักอาศัยที่บ้านอีกหลังหนึ่งในซอยวัดไผ่สิงโต แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อปี 2494 จำเลยที่ 2 ก่อตั้งบริษัทล่อจิ้นเส็ง จำกัด ขึ้นและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ส่วนบุคคลผู้มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายอื่นมีฐานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทนจำเลยที่ 2 สำหรับโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทล่อจิ้นเส็ง จำกัด มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เลขที่ 2 – 4 ถนนพระราม 4 แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร โดยตั้งอยู่ในที่ดินเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ซึ่งจำเลยที่ 2 เช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริษัทล่อจิ้นเส็ง จำกัด ประกอบกิจการค้าขายพืชไร่และหนังสัตว์เป็นหลัก โจทก์กับจำเลยที่ 2 พักอาศัยอยู่ด้วยกันในบริเวณที่ตั้งของบริษัทดังกล่าว ภายหลังจากก่อตั้งบริษัทล่อจิ้นเส็ง จำกัด แล้ว จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง และต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงให้แก่จำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยกขึ้นอ้างมาในศาลล่างทั้งสองแต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวม 4 แปลง ร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่ามีบันทึกการแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่บันทึกดังกล่าวจำเลยที่ 2 ทำขึ้นโดยนายพิเชฐ ทนายความ พิมพ์ข้อความให้ และขณะที่ทำเอกสารก็มีตัวโจทก์และบุตรของโจทก์อยู่ด้วย ซึ่งในเอกสารดังกล่าวมีข้อความเพียงว่า หากได้มาจะยกให้บุตรที่เกิดระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์เท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดที่กำหนดยกให้แก่โจทก์เลย แสดงว่าในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำเอกสารนั้น โจทก์ได้ยอมรับสภาพว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นของโจทก์ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องและนำเอกสารหมาย จ.10 มาประกอบเป็นเอกสารท้ายฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ทำบันทึกยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ทั้งที่ตนเองไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์อยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 9 คน โจทก์กับจำเลยที่ 2 อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน และร่วมกันประกอบกิจการค้าโดยก่อตั้งบริษัทล่อจิ้นเส็ง จำกัด จนกิจการมีฐานะมั่นคงสามารถซื้อที่ดินพิพาทรวม 4 แปลง โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของร่วมครึ่งหนึ่ง ต่อมาจำเลยที่ 1 หลอกลวงจำเลยที่ 2 ว่าที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเป็นสินสมรสให้โอนเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนั้น คำฟ้องโจทก์จึงเป็นคำขอที่อาศัยสิทธิในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเพื่อการใช้สิทธิติดตามเอาคืน โดยการเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์เป็นเจ้าของรวมซึ่งได้กระทำไปโดยไม่มีสิทธิหรืออำนาจตามกฎหมาย โจทก์หาได้อ้างสิทธิหรือบังคับตามข้อความใดๆ ในเอกสารหมาย จ.10 มาฟ้องเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ส่วนที่เอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายพิเชฐเป็นผู้ฟ้องเรียกที่ดินจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำมาแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนของจำเลยที่ 2 จะยกให้แก่บุตรเองก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ผู้ทำเอกสารแสดงเจตนาของตนต่อนายพิเชฐในขณะนั้น แม้โจทก์อยู่ด้วยในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำเอกสารดังกล่าว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมหรือเข้าร่วมผูกพันตามข้อความในเอกสารนั้นแต่อย่างใด เอกสารหมาย จ.10 จึงไม่มีผลลบล้างสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่มีอยู่ตามกฎหมาย กรณีจึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ไม่อาจนำมาใช้เทียบเคียงกันได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังพยานบุคคลโดยไม่พิจารณาเอกสารหมาย จ.10 ที่โจทก์กล่าวอ้างในการฟ้องคดี ซึ่งเอกสารดังกล่าวนายพิเชฐทนายความโจทก์เป็นผู้ทำโดยมีโจทก์และบุตรโจทก์รู้เห็นในการกระทำเอกสารแต่ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ทั้งที่นายพิเชฐได้อ่านข้อความให้บุคคลที่อยู่ ณ. ที่นั้นฟัง เมื่อข้อความตามเอกสารหมาย จ.10 ระบุไว้ชัดเจนว่า ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงไม่ใช่ที่ดินที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันซื้อมาแล้วโจทก์ให้จำเลยที่ 2 ใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน นอกจากนี้ข้อความในเอกสารหมาย จ.10 ต่อไปที่ว่า จำเลยที่ 2 ประสงค์จะฟ้องเพิกถอนการโอน เพื่อนำมาแบ่งเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน โดยส่วนของจำเลยที่ 1 ให้ตกแก่จำเลยที่ 1 หรือบุตรของจำเลยที่ 1 ส่วนของจำเลยที่ 2 ให้ตกแก่บุตรของจำเลยที่ 2 ซึ่งเกิดกับโจทก์ แสดงให้เห็นได้ชัดแจ้งว่า ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น เห็นว่า การพิสูจน์สิทธิความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม จำต้องพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานต่างๆ ที่คู่ความนำสืบต่อศาล เพื่อแสดงถึงสิทธิและการได้มาของโจทก์ว่ามีลำดับความเป็นมาอย่างไร ลำพังบันทึกการแบ่งที่ดินพิพาทเพียงฉบับเดียวไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานที่จะอ้างอิงเพื่อที่จะยืนยันว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น และมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงไม่อยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานมานำสืบพิสูจน์ได้ว่าที่ดินพิพาทโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอย่างไร ทั้งคดีนี้โจทก์ก็มิได้ตั้งรูปคดีอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 2 โดยอาศัยข้อความจากบันทึกดังกล่าวแต่ประการใด โจทก์กล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 2 โดยการทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างวันที่โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 โจทก์เพียงแต่อ้างส่งบันทึกเป็นพยานเอกสารเพื่อประกอบพยานหลักฐานอื่นๆ ของโจทก์เท่านั้น นอกจากนี้เมื่อศาลฎีกาได้ตรวจข้อความในบันทึกโดยละเอียดแล้ว ก็ไม่มีข้อความตอนใดหรือส่วนใดที่ระบุว่าที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงนี้เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ที่จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้ฟังพยานหลักฐานให้ครบถ้วน แต่รับฟังเฉพาะคำเบิกความพยานโจทก์เท่านั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทั้งสองแล้วจึงได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์เป็นลำดับว่า โจทก์มีตัวโจทก์อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 รวมทั้งความเป็นมาของที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงโดยมีพยานบุคคลที่รู้เห็นข้อเท็จจริงในแต่ละช่วงแต่ละเหตุการณ์มาเบิกความสนับสนุนได้ความสอดคล้องต้องกันว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้โจทก์เป็นภริยาอีกคนหนึ่ง จำเลยที่ 2 พาโจทก์ไปพักอาศัยอยู่ภายในบริเวณโรงงานจิ้นเส็ง ย่านสะพานเหลือง แขวงหัวลำโพง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากมีเหตุทะเลาะวิวาทกันกับจำเลยที่ 1 ซึ่งพักอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวเช่นเดียวกัน จำเลยที่ 2 จึงพาโจทก์ไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านอีกหลังหนึ่งในซอยวัดไผ่สิงโต แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 กับพวกได้ก่อตั้งบริษัทล่อจิ้นเส็ง จำกัด ขึ้นมา บริษัทดังกล่าวได้ใช้บ้านเช่าที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 พักอาศัยอยู่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ โจทก์มีส่วนช่วยเหลือจำเลยที่ 2 ในกิจการค้าขายของบริษัทล่อจิ้นเส็ง จำกัด ตลอดมา เมื่อมีผู้มาติดต่อกับบริษัทก็จะพบโจทก์ทำหน้าที่รับรองหรือติดต่อกับลูกค้าในบริษัท แล้วจึงได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองมีตัวจำเลยที่ 1 กับนางดวงจิตผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 เบิกความลอยๆ แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ได้ไปช่วยจำเลยที่ 2 ในกิจการของบริษัทล่อจิ้นเส็ง จำกัด สำหรับพยานบุคคลของจำเลยทั้งสองบางส่วนก็เบิกความขัดแย้งกัน บางส่วนก็เบิกความเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์อันเป็นข้อสนับสนุนให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดียิ่งขึ้น หลังจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยชั่งน้ำหนักคำพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองดังกล่าวมานี้ แล้วจึงฟังข้อเท็จจริงว่าตามพฤติกรรมที่จำเลยที่ 2 ตั้งบริษัทล่อจิ้นเส็ง จำกัด ในลักษณะเป็นกิจการในครอบครัว โดยจำเลยที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ในบริเวณที่ตั้งของบริษัทดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทจนมีบุตรด้วยกันถึงเก้าคนและโจทก์ได้ร่วมช่วยเหลือกิจการของบริษัทล่อจิ้นเส็ง จำกัด ตลอดมา เมื่อที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงได้มาจากรายได้ในกิจการของบริษัทล่อจิ้นเส็ง จำกัด แม้โจทก์เป็นภริยานอกสมรสก็ต้องถือว่าที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน การที่จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่เพียงผู้เดียวก็เป็นการกระทำแทนโจทก์เท่านั้น ดังนี้ โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง ศาลฎีกาเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวได้วินิจฉัยแยกแยะโดยให้เหตุผลไว้โดยละเอียดชัดแจ้งแล้วว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองด้วยเหตุผลอย่างไร และเป็นข้อวินิจฉัยทั้งที่มีเหตุผลครบถ้วนตรงตามพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายที่ปรากฏอยู่ในสำนวนแล้ว กรณีหาใช่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้ฟังพยานหลักฐานให้ครบถ้วนหรือรับฟังเฉพาะคำเบิกความพยานโจทก์ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่
จำเลยทั้งสองฎีกาประการต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาท แล้วแบ่งที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นการไม่ชอบ เพราะที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นสินสมรสนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงที่จำเลยที่ 2 ได้มาเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาททั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาททั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์อีกคนหนึ่งมิได้รู้เห็นยินยอมนิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หาได้พิพากษาเพิกถอนที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ในการก่อตั้งบริษัทล่อจิ้นเส็ง จำกัด ได้นำเงินทุนและทรัพย์สินทั้งหมดมาจากการแปรสภาพกิจการทางการค้ายี่ห้อจิ้นเส็งและยี่ห้อล่อจิ้นเส็ง ซึ่งกิจการทั้งสองยี่ห้อดังกล่าวเป็นกิจการของจำเลยทั้งสองก่อนที่โจทก์จะอยู่กินกับจำเลยที่ 2 โดยอ้างหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทล่อจิ้นเส็ง จำกัด มาท้ายฎีกานั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว จำเลยทั้งสองเพิ่งกล่าวอ้างขึ้นในชั้นฎีกา เป็นการนำพยานเอกสารเข้าสู่สำนวนความโดยไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 และโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านเกี่ยวกับเอกสารนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ สำหรับฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้ออื่นๆ ล้วนแต่เป็นการโต้เถียงในข้อที่ไม่เป็นสาระสำคัญอันจะมีผลทำให้การวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share