คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2843/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม พ. ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 ได้ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะตามคำให้การของ น. ทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของ น. ที่ให้การเป็นขั้นเป็นตอนเกี่ยวกับการนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 มีน้ำหนักควรแก่การรับฟังยิ่งกว่าคำเบิกความของ น. ที่บ่ายเบี่ยงในทำนองช่วยเหลือจำเลยทั้งสองให้ไม่ต้องรับโทษ แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของ น. มีลักษณะเป็นพยานบอกเล่าและเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันแต่ก็ไม่ได้ให้การเพื่อปัดความรับผิดของตนเพียงแต่ให้การในรายละเอียดที่ตนเองประสบพบเห็นมา ส่วนที่ น. อ้างว่าเหตุที่ให้การซัดทอดถึงผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจพูดจูงใจเพื่อจะได้รับการบรรเทาโทษนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งให้ น. ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการให้หรือเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าพนักงานตำรวจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างของ น. จึงไม่อาจรับฟังได้
ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 หาได้ห้ามมิให้รับฟังพยานซัดทอดเลยเสียทีเดียวไม่ หากแต่ศาลพึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลยทั้งสอง เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานอื่นประกอบมาสนับสนุน คำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนต่อหน้าพันตำรวจโท ฉ. และทนายความ ซึ่งร่วมฟังการสอบสวนด้วยอันเป็นการตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน เชื่อว่าพนักงานสอบสวนจัดทำบันทึกคำให้การดังกล่าวถูกต้องตรงตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่ามีการจูงใจให้จำเลยที่ 2 ให้การซัดทอดบุคคลอื่นก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ แต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการให้หรือเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ดังเช่นกรณีของ น. ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าพนักงานตำรวจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้แจ้งให้ พ. สามีของจำเลยที่ 2 ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางจาก น. จึงมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อ พ. หยิบเมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจวางล่อไว้ในตู้โทรศัพท์สาธารณะ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด เมื่อปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางที่อยู่ในความครอบครองของ น. และ พ. กับจำเลยที่ 2 มีจำนวน 100 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 9.80 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.714 กรัม ซึ่งปริมาณของยาเสพติดดังกล่าวกฎหมายสันนิษฐานไว้เด็ดขาดว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 4, 5, 7, 8, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1048/2552 และ 1240/2552 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 6 ปี และปรับคนละ 450,000 บาท คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี และปรับ 300,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เหตุที่มีการจับกุมจำเลยทั้งสองเนื่องมาจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายนาวินและนายพงษ์วิทย์ได้แล้วสอบปากคำนายนาวินจึงทราบว่านายนาวินรับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากจำเลยที่ 1 แล้วจะนำไปส่งให้แก่จำเลยที่ 2 แต่นายนาวินไม่รู้จักตัวจำเลยที่ 2 คงทราบแต่หมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 2 ที่นายนาวินได้รับมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งพยานโจทก์ทั้งดาบตำรวจฉริยะ พันตำรวจโทนิวัฒน์กับดาบตำรวจนัติ ต่างเบิกความยืนยันว่าในขณะที่นายนาวินพูดโทรศัพท์กับจำเลยที่ 2 นายนาวินได้เปิดลำโพงโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงได้ยินเสียงพูดคุยของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ได้แจ้งให้นายนาวินนำเมทแอมเฟตามีนไปไว้ที่ตู้โทรศัพท์ ครั้นเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปวางไว้ตามที่นัดหมาย ปรากฏว่ามีนายพงษ์วิทย์ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 มาหยิบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวไว้ ครั้นเมื่อตรวจค้นตัวนายพงษ์วิทย์พบใบฝากเงินจำนวน 17,000 บาท เข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บัญชีเลขที่ 356 – 2 – 72442 – 5 ตามใบฝากเงิน ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ปรากฏว่าในวันที่ 29 ธันวาคม 2551 มีการฝากเงินเข้าบัญชีจำนวน 6,300 บาท และในวันเดียวกันนั้นมีการเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปด้วยบัตรเอทีเอ็ม วันที่ 30 ธันวาคม 2551 มีการฝากเงินเข้าบัญชี 4 ครั้ง จำนวน 6,200 บาท, 2,000 บาท, 500 บาท และ 5,300 บาท รวม 14,000 บาท และมีการเบิกถอนเงินจำนวน 13,900 บาท ไปในวันเดียวกัน โดยการใช้บัตรเอทีเอ็ม ต่อมวันที่ 6 มกราคม 2552 มีการฝากเงินเข้าบัญชี 2 ครั้ง จำนวน 3,000 บาท และ 4,900 บาท รวม 7,900 บาท ในวันเดียวกันนั้นมีการเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปด้วยบัตรเอทีเอ็ม และในวันที่ 9 มกราคม 2552 มีการฝากเงินเข้าบัญชีจำนวน 8,775 บาท ในวันเดียวกันนั้นมีการเบิกถอนเงินจำนวน 8,800 บาท ไปด้วยบัตรเอทีเอ็ม ต่อมาในวันเกิดเหตุวันที่ 12 มกราคม 2552 มีการฝากเงินเข้าบัญชีจำนวน 17,000 บาท และในวันเดียวกันนั้นมีการเบิกถอนออกไปจากบัญชีด้วยบัตรเอทีเอ็มรวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 3,000 บาท 13,000 บาท และ 900 บาท รวม 16,900 บาท ตามสำเนาใบแจ้งยอดบัญชีเงินฝาก ลักษณะการเคลื่อนไหวของบัญชีดังที่กล่าวมาข้างต้นบ่งชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติของการฝากและเบิกถอนเงินเพราะหากจำเลยที่ 2 ประสงค์จะใช้เงินในวันเดียวกับที่นำเงินฝากเข้าบัญชีแล้วย่อมไม่มีเหตุผลอันใด ที่จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินฝากเข้าบัญชีก่อนให้เป็นการยุ่งยาก ซึ่งลักษณะการเคลื่อนไหวทางบัญชีเช่นนี้กลับสอดคล้องกับคำเบิกความของพันตำรวจโทนิวัฒน์พยานโจทก์ที่ว่า เมื่อสอบปากคำนายพงษ์วิทย์แล้วได้ความว่าได้รวบรวมเงินจากผู้ที่ต้องการเมทแอมเฟตามีนแล้วนำไปฝากไว้ในบัญชีของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีบัตรเอทีเอ็มของบัญชีดังกล่าวเพื่อนำไปเบิกเงินจากบัญชีเป็นค่าเมทแอมเฟตามีน ทั้งลักษณะการเคลื่อนไหวทางบัญชีของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวมาข้างต้น มีมาตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2551 ตลอดมาจนถึงวันที่ 12 มกราคม 2552 ที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวนายพงษ์วิทย์ตามสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก บัญชีเลขที่ 356 – 2 – 72442 – 5 ของจำเลยที่ 2 เอกสารสำเนาบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวและการที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายพงษ์วิทย์ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 ได้ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะดังที่ระบุข้างต้นล้วนทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของนายนาวินที่ให้การเป็นขั้นเป็นตอนเกี่ยวกับการนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 มีน้ำหนักควรแก่การรับฟังยิ่งกว่าคำเบิกความของนายนาวินที่บ่ายเบี่ยงในทำนองช่วยเหลือ จำเลยทั้งสองให้ไม่ต้องรับโทษ และเห็นว่าแม้คำให้การในชั้นสอบสวนของนายนาวินมีลักษณะเป็นพยานบอกเล่าและเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันแต่ก็ไม่ได้ให้การเพื่อปัดความรับผิดของตนเพียงแต่ให้การในรายละเอียดที่ตนเองประสบพบเห็นมา ส่วนที่นายนาวินอ้างว่าเหตุที่ให้การซัดทอดถึงผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจพูดจูงใจเพื่อจะได้รับการบรรเทาโทษนั้น มีข้อความระบุว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งให้นายนาวินทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการให้หรือเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าพนักงานตำรวจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายข้ออ้างของนายนาวินจึงไม่อาจรับฟังได้ สำหรับคำให้การในชั้นสอบสวนของนายนาวิน แม้เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 หาได้ห้ามมิให้รับฟังพยานซัดทอดเลยเสียทีเดียวไม่ หากแต่ศาลพึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลยทั้งสอง เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานอื่นประกอบมาสนับสนุน ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสองนั้น สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายพงษ์วิทย์ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 ได้หลังจากที่นายนาวินติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์กับนางแววต่อหน้า ดาบตำรวจฉริยะ ดาบตำรวจนัติ และพันตำรวจโทนิวัฒน์ พยานโจทก์ทั้งสาม ครั้นเมื่อตรวจค้นตัวนายพงษ์วิทย์ก็พบใบฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ยิ่งทำให้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคล ที่พูดติดต่อทางโทรศัพท์กับนายนาวินและแจ้งให้นายนาวินนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปไว้ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะดังคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามและคำให้การในชั้นสอบสวนของนายนาวิน นอกจากนี้ในชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจยังได้ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ปรากฏว่ามีการติดต่อกันในวันที่ 1, 7, 9, 10 และ 12 มกราคม 2552 โดยเฉพาะในวันที่ 12 มกราคม 2552 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุเป็นการติดต่อกันเมื่อเวลา 13.08 นาฬิกา และมีการติดต่อกันทางโทรศัพท์ระหว่างหมายเลข 08 1020 9522 ของนายพงษ์วิทย์กับนายนาวินที่หมายเลข 08 9953 178 เมื่อวันที่ 9 และ 10 มกราคม 2552 วันเวลาที่มีการติดต่อกันทางโทรศัพท์ระหว่าง นายนาวินกับจำเลยที่ 2 และนายพงษ์วิทย์สอดคล้องกับรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ประกอบกับปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่าในชั้นสอบสวนเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้จำเลยที่ 2 ทราบ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพและให้การเป็นขั้นเป็นตอนว่าในวันที่ 12 มกราคม 2552 จำเลยที่ 2 ได้นำเงินจำนวน 17,000 บาท ที่นายพงษ์วิทย์ให้ไว้ไปฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขานาน้อย โดยก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 ได้นำบัตรเอทีเอ็มไปฝากไว้ที่ร้านค้าของนางกมลวรรณ ภริยาของจำเลยที่ 1 และได้แจ้งรหัสบัตรเอทีเอ็มให้จำเลยที่ 1 ทราบ ในวันที่ 12 มกราคม 2552 นายพงษ์วิทย์ได้นัดซื้อเมทแอมเฟตามีน 100 เม็ดจากจำเลยที่ 1 ต่อมานายนาวินได้โทรศัพท์แจ้งว่าจะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดน่าน จำเลยที่ 2 จึงโทรศัพท์แจ้งนายพงษ์วิทย์ให้ไปรับเมทแอมเฟตามีนที่ตู้โทรศัพท์ดังกล่าว แล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัว ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 2 และนายพงษ์วิทย์จะนำเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 ใช้บัตรเอทีเอ็มไปเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของจำเลยที่ 2 ในระยะหลังจำเลยที่ 2 ติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนผ่านนายนาวิน จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ให้นายธนโชคหรือโก้ ไปเบิกถอนเงินมาให้ จำเลยที่ 2 รู้จักนายนาวินทางโทรศัพท์เท่านั้น โดยได้รับหมายเลขโทรศัพท์ของนายนาวินจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ไม่เคยเห็นหน้านายนาวิน ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา คำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนต่อหน้าพันตำรวจโทเฉลียว ทนายความ ซึ่งร่วมฟังการสอบสวนด้วยอันเป็นการตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน เชื่อว่าพนักงานสอบสวนจัดทำบันทึกคำให้การดังกล่าวถูกต้องตรงตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่ามีการจูงใจให้จำเลยที่ 2 ให้การซัดทอดบุคคลอื่นก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ แต่กลับปรากฏ ว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการให้หรือเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อตำรวจผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ดังเช่นกรณีของนายนาวินซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าพนักงานตำรวจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้แจ้งให้นายพงษ์วิทย์สามีของจำเลยที่ 2 ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางจากนายนาวินจึงมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อนายพงษ์วิทย์หยิบเมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจวางล่อไว้ในตู้โทรศัพท์สาธารณะ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด เมื่อปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางที่อยู่ในความครอบครองของนายนาวินและนายพงษ์วิทย์ กับจำเลยที่ 2 มีจำนวน 100 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 9.80 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.714 กรัม ซึ่งปริมาณของยาเสพติดดังกล่าวกฎหมายสันนิษฐานไว้เด็ดขาดว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ในส่วนจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์คงมีแต่เพียงคำให้การในชั้นสอบสวนของนายนาวินและจำเลยที่ 2 ที่ซัดทอดว่านายนาวินรับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากจำเลยที่ 1 และนายพงษ์วิทย์ติดต่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 และมีการชำระราคาเมทแอมเฟตามีนโดยการนำบัตรเอทีเอ็มของจำเลยที่ 2 ไปเบิกถอนเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 2 แต่ในการตรวจค้นบ้านของจำเลยที่ 1 กลับไม่พบบัตรเอทีเอ็มดังกล่าวแต่อย่างใด สำหรับการตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ติดต่อระหว่างเครือข่ายยาเสพติดก็ปรากฏหลักฐานเพียงการโทรศัพท์ติดต่อระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายนาวินเท่านั้น แต่บุคคลทั้งสองเป็นเพื่อนกัน โดยไม่ปรากฏหลักฐานการโทรศัพท์ติดต่อกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 1 กับนายพงษ์วิทย์ แต่ประการใด ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็ให้การปฏิเสธมาโดยตลอดตั้งแต่ตอนที่ถูกจับกุมตัวจนถึงชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share