แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คณะกรรมการการเลือกตั้งถูกจัดตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ให้มีหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเป็นองค์กรที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการได้มาซึ่งผู้แทนของประชาชน หากไม่สามารถควบคุมหรือจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมแล้วจะบังเกิดผลทำให้บุคคลที่ไม่สุจริตโกงการเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติหรืออำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ย่อมคาดหมายได้ว่าบุคคลจำพวกนี้จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนเพื่อประโยชน์แก่ตนและพวกพ้องยิ่งกว่าประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม อันทำให้ระบบการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยผิดเพี้ยนไป ความเสียหายย่อมตกแก่ประชาชน หรือรัฐซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน อันถือเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24 จึงได้บัญญัติเป็นข้อห้ามของกรรมการการเลือกตั้งว่า ห้ามมิให้กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและอนุกรรมการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด หรือกระทำการหรือละเว้นกระทำการโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ และมาตรา 42 บัญญัติกำหนดโทษทางอาญาแก่กรรมการการเลือกตั้งผู้ฝ่าฝืนมาตรา 24 ไว้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ได้ยื่นคำร้องกล่าวโทษต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามกฎหมาย เพราะก่อนวันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรค ท. หรือผู้บริหารพรรค ท. กระทำการโดยไม่สุจริตด้วยการจ้างวานหรือใช้ให้พรรค พ. และพรรค ผ. จัดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งต่าง ๆ หลายเขตหลายจังหวัดในประเทศเพื่อแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค ท. ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตดังกล่าวนั้น โดยผู้บริหารของพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งปลอมทะเบียนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นเอกสารราชการเก็บรักษาอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยการแก้ไขฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บรรจุข้อมูลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยการลบชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งที่แท้จริงออกไปแล้วใส่ชื่อผู้ที่จะจัดให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรค พ. และพรรค ผ. แทน เพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรค พ. และพรรค ผ. มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่สุจริตอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่เมื่อคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 แต่งตั้งทำการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าพรรค พ. และพรรค ผ. ได้รับเงินสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงของพรรค ท. เพื่อดำเนินการแก้ไขข้อมูลในทะเบียนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและจัดส่งสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 จริง สมควรแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งพันตำรวจโท ท. รักษาการนายกรัฐมนตรีและในฐานะหัวหน้าพรรค ท. จำเลยทั้งสี่กลับดำเนินการบางส่วนแก่พรรค พ. และพรรค ผ. แต่เพิกเฉยไม่ดำเนินการแก่พรรค ท. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งมีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีเจตนาหน่วงเหนี่ยวประวิงเวลาเพื่อช่วยเหลือพรรค ท. อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการปฏิบัติต่อโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 136 ถึง มาตรา 148 กำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรอิสระโดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และให้มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งอื่น ทั้งมาตรา 147 แห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้กำหนดไว้ด้วยว่า หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าก่อนได้รับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ฯลฯ ผู้ใดได้กระทำการโดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริตโดยผลของการที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดได้กระทำลงไปอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง นอกจากคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงโดยพลันแล้ว เมื่อได้ผลการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องวินิจฉัยสั่งการโดยพลันด้วย การที่ข้อเท็จจริงปรากฏต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกตั้งแต่แรกแล้วว่า พลเอก ธ. รองหัวหน้าพรรค ท. และ พ. รองเลขาธิการพรรค ท. ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อันแสดงให้เห็นได้ว่าคนทั้งสองเป็นกรรมการบริหารของพรรค ท. ที่มีบทบาทสูงจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ คนทั้งสองได้กระทำการอันฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 และกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาในเรื่องของการสนับสนุนให้มีการปลอมแปลงเอกสารราชการด้วย แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก กลับมิได้วินิจฉัยสั่งการให้ดำเนินคดีแก่คนทั้งสองโดยพลันทั้งนี้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก ทราบดีอยู่แล้วว่าการดำเนินคดีแก่พลเอก ธ. และ พ. ย่อมส่งผลกระทบต่อพรรค ท. อย่างรุนแรง เพราะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐทั้งขัดต่อกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองย่อมมีหน้าที่แจ้งต่ออัยการสูงสุดให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรค ท. ได้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ตามมาตรา 67 ประกอบมาตรา 66 (1) และ (3) การประชุมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เพื่อพิจารณารายงานการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่มี น. เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2549 และลงมติในส่วนที่เกี่ยวกับพรรค ท. ว่าให้คณะอนุกรรมการฯ สอบสวนพยานเพิ่มเติมจึงมิได้เป็นการวินิจฉัยสั่งการโดยพลันเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณแก่พรรค ท. และจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก มิได้กระทำการตามหน้าที่โดยสุจริต จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24, 42 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยรับราชการในตำแหน่งสำคัญและทำคุณความดี ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติมากมายขณะดำรงตำแหน่งหรือในระยะต่อมาจนได้รับการสรรหาและคัดเลือกให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับการเชื่อถือว่าเป็นผู้มีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์โดยผลงาน ชื่อเสียงและเกียรติคุณที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สร้างสมไว้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีอำนาจหน้าที่อันสำคัญ ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องดำรงความซื่อสัตย์สุจริตและความเป็นกลางทางการเมืองให้มั่นคงที่สุด แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับกระทำการในลักษณะตรงกันข้าม วินิจฉัยสั่งการโดยมิชอบด้วยหน้าที่เป็นคุณแก่พรรค ท. อันเป็นพรรครัฐบาล อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและคุณธรรม เท่ากับว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมละทิ้งคุณความดี คุณประโยชน์ของตนที่มีมาก่อนจนหมดสิ้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ควรยกคุณความดี คุณประโยชน์ที่เคยทำมากล่าวอ้างเพื่อประโยชน์แก่ตนได้อีก แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ละคนจะมีอายุประมาณ 70 ปีแล้ว และมีสุขภาพไม่ดีก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24, 42 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 157, 326, 328, 332 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาโดยละเอียดในหนังสือพิมพ์รายวันรวม 8 ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เดลินิวส์ โพสต์ทูเดย์ มติชน แนวหน้า ไทยโพสต์ คมชัดลึก และเดอะเนชั่น ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน ด้วยตัวอักษรขนาดเท่าที่หนังสือพิมพ์รายวันทั่วไปเสนอข่าวเป็นปกติ โดยจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา หากจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งฉบับใดไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ให้จำเลยทั้งสี่ลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับอื่นตามที่โจทก์เป็นผู้กำหนด โดยจำเลยทั้งสี่ร่วมกันเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24, 42 ประมวลกฎมายอาญา มาตรา 157 ส่วนข้อหาหมิ่นประมาทไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24, 42 ประกอบประมวลกฎมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 3 ปี ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสามนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 2 ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ กำหนดให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ประชาชนไทยทุกคนเมื่อมีสิทธิเลือกตั้ง ถือเป็นหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของตนให้ไปใช้อำนาจนิติบัญญัติซึ่งทำหน้าที่ออกกฎหมายเพื่อมาใช้บังคับแก่ประชาชน ขณะเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกจากประชาชนก็มีหน้าที่แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงถือเป็นกระบวนการของประชาธิปไตยที่สำคัญในการเลือกตัวแทนของประชาชนให้เข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติและใช้อำนาจบริหาร คณะกรรมการการเลือกตั้งถูกจัดตั้งขึ้นมาตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ดังกล่าวให้มีหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเป็นองค์กรที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการได้มาซึ่งผู้แทนของประชาชน หากไม่สามารถควบคุมหรือจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมแล้วจะบังเกิดผลทำให้บุคคลที่ไม่สุจริตโกงการเลือกตั้งได้เป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติหรืออำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ย่อมคาดหมายได้ว่าบุคคลจำพวกนี้จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนเพื่อประโยชน์แก่ตนและพวกพ้องยิ่งกว่าประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม อันทำให้ระบบการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยผิดเพี้ยนไป ความเสียหายย่อมตกแก่ประชาชนหรือรัฐซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน อันถือเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24 จึงได้บัญญัติเป็นข้อห้ามของกรรมการการเลือกตั้งว่า ห้ามมิให้กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดและอนุกรรมการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด หรือกระทำการหรือละเว้นกระทำการโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ และมาตรา 42 บัญญัติกำหนดโทษทางอาญาแก่กรรมการการเลือกตั้งผู้ฝ่าฝืน มาตรา 24 ไว้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ได้ยื่นคำร้องกล่าวโทษต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งนี้มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามกฎหมาย เพราะก่อนวันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทยหรือผู้บริหารพรรคไทยรักไทยกระทำการโดยไม่สุจริตด้วยการจ้างวานหรือใช้ให้พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยจัดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งต่าง ๆ หลายเขตหลายจังหวัดในประเทศเพื่อแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตดังกล่าวนั้นโดยผู้บริหารของพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งปลอมทะเบียนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นเอกสารราชการเก็บรักษาอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยการแก้ไขฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บรรจุข้อมูลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยการลบชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งที่แท้จริงออกไปแล้วใส่ชื่อผู้ที่จะจัดให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยแทนเพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่สุจริต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่เมื่อคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 แต่งตั้งทำการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยได้รับเงินสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทยเพื่อดำเนินการแก้ไขข้อมูลในทะเบียนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและจัดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 จริง สมควรแจ้งข้อกล่าวแก่ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งพันตำรวจโททักษิณ รักษาการนายกรัฐมนตรีและในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จำเลยทั้งสี่กลับดำเนินการบางส่วนแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย แต่เพิกเฉยไม่ดำเนินการแก่พรรคไทยรักไทยและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งมีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีเจตนาหน่วงเหนี่ยวประวิงเวลาเพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการปฏิบัติต่อโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2549 โจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 ถึง 20 มีนาคม 2549 โจทก์ได้รับข้อมูลและพยานหลักฐานแสดงได้ว่าพรรคไทยรักไทยได้กระทำการเพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งโดยสุจริต ด้วยการใช้ จ้าง วานหรือให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทย โดยผู้บริหารของพรรคไทยรักไทยและเจ้าหน้าที่ของพรรคพัฒนาชาติไทยร่วมกันดำเนินการปลอมแปลงเอกสารแก้ไขทะเบียนสมาชิกในฐานข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อส่งคนซึ่งไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเขตต่าง ๆ ตามเอกสารหมาย จ.2 และในวันเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้งโดยจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงตามหนังสือร้องเรียน โดยมีนายนาม เป็นประธานคณะอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเชื่อว่าพรรคพัฒนาชาติไทยโดยนายบุญทวีศักดิ์ นายชวการและนายสุขสันต์ กับพรรคแผ่นดินไทย โดยนายบุญอิทธิพลและนางฐัติมา ได้รับเงินสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทย เห็นสมควรแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องและทำการสืบสวนสอบสวนต่อไป ตามเอกสารหมาย จ.4 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประชุมพิจารณารายงานผลการสืบสวนสอบสวนของคณะอนุกรรมการดังกล่าวในวันที่ 21 เมษายน 2549 แล้วมีมติให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่นายบุญทวีศักดิ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทยกับพวกและผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพัฒนาชาติไทย จังหวัดนครศรีธรรมราชบางคน ให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่นายบุญอิทธิพล หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทยกับพวก และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคแผ่นดินไทยบางคน กับให้แจ้งแก่อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการยุบพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย ตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ในส่วนของพรรคไทยรักไทย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความเห็นว่า จากรายงานการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงมีการพาดพิงถึงสมาชิกพรรคไทยรักไทยหลายคน จึงมีมติให้คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงไปสอบสวนพยานเพิ่มเติมในส่วนที่พาดพิงทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน แล้วเสนอความเห็นว่าบุคคลดังกล่าวเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยหรือไม่ และมีความผิดอย่างใดหรือไม่ ตามเอกสารหมาย ล.25 จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การประชุมและลงมติของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคไทยรักไทยในวันที่ 21 เมษายน 2549 ดังกล่าว เป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณแก่พรรคไทยรักไทย อันเป็นความผิดตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 136 ถึงมาตรา 148 กำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นองค์กรอิสระโดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาส่วนท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และให้มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งอื่น ทั้งมาตรา 147 แห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้กำหนดไว้ด้วยว่า หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าก่อนได้รับการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ฯลฯ ผู้ใดได้กระทำการโดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับเลือกตั้งหรือได้รับการเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริต โดยผลของการบุคคลหรือพรรคการเมืองใดได้กระทำลงไปอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง นอกจากคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงโดยพลันแล้ว เมื่อได้ผลการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องพิจารณาวินิจฉัยสั่งการโดยพลันด้วย ซึ่งตามรายงานการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้ระบุความผิดของพรรคพัฒนาชาติไทย กับนายบุญทวีศักดิ์ หัวหน้าพรรคกับพวก พรรคแผ่นดินไทย กับนายบุญอิทธิพล หัวหน้าพรรคกับพวก ไว้อย่างชัดแจ้ง แม้ในส่วนของพรรคไทยรักไทยคณะอนุกรรมการฯ ได้ระบุความเห็นเพียงว่า จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทยได้กระทำการตามข้อร้องเรียน เห็นควรแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องและทำการสืบสวนสอบสวนต่อไป แต่จากข้อเท็จจริงตามทางนำสืบสวนสอบสวนของคณะอนุกรรมการฯ เห็นได้ชัดถึงมูลความผิดของพลเอกธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์ ผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทยว่าได้กระทำการเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของพรรคพัฒนาชาติไทยร่วมกันกับพวกปลอมแปลงเอกสาร แก้ไขข้อมูลทะเบียนสมาชิกในฐานข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้พรรคพัฒนาชาติไทยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว เพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยโดยเฉพาะ อันมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 100 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265 และ 268 ประกอบมาตรา 83 และ 86 ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่บุคคลทั้งสองโดยพลันและเป็นที่ทราบกันทั่วไปในขณะนั้นว่า พลเอกธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์เป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย คนทั้งสองได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงคมนาคมตามลำดับซึ่งเป็นกระทรวงใหญ่และสำคัญ ย่อมเห็นได้ชัดว่าบุคคลทั้งสองต้องมีบทบาทสำคัญและยังเป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทย การกระทำของพลเอกธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง หากแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่พรรคไทยรักไทย เพราะจะทำให้พรรคไทยรักไทยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นและมีจำนวนมากเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียว จึงอาจถือได้ว่าพรรคไทยรักไทยเป็นผู้กระทำการดังกล่าวโดยพลเอกธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันมีมูลความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 66 (1) และ (3) ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองย่อมมีหน้าที่แจ้งต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย ตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้โดยพลันเช่นกัน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประชุมพิจารณาผลรายงานการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการดังกล่าวแล้วลงมติให้ดำเนินการร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องคือนายอมรวิทย์ เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลประจำสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายบุญทวีศักดิ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย นายสุขสันต์ นายชวการ และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพัฒนาชาติไทยบางคน กับร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่นายบุญอิทธิพล หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทย นางรัฐติมา นายพันธมิตร และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคแผ่นดินไทยบางคน กับให้แจ้งอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการร้องต่อรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคไทยรักไทย จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับมีความเห็นว่า จากรายงานการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงมีการพาดพิงถึงสมาชิกพรรคไทยรักไทยหลายคน จึงมีมติให้คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงไปสอบสวนพยานเพิ่มเติมในส่วนที่พาดพิงทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน แล้วเสนอความเห็นว่าบุคคลดังกล่าวเป็นคณะกรรมการการบริหารพรรคไทยรักไทยหรือไม่ และมีความผิดอย่างใดหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอย่างไม่เท่าเทียมกัน และถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะอ้างในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกมีมติไปตามรายงานผลการสืบสวนสอบสวนและความเห็นของคณะอนุกรรมการดังกล่าว แต่การที่รายงานคณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอความเห็นในส่วนของพรรคไทยรักไทยว่า เห็นควรแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องและทำการสืบสวนสอบสวนต่อไป แม้จะมิได้ระบุความผิดอย่างชัดแจ้งจะด้วยเหตุผลอย่างไรไม่ปรากฏ แต่ก็มีความหมายว่าให้ดำเนินคดีแก่พลเอกธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์รวมทั้งบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำดังกล่าว และดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อขยายผลถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องอีก จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกได้ประชุมพิจารณาผลการสืบสวนสอบสวนของคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและรายงานการสอบสวนเพิ่มเติมของคณะผู้สอบสวนชุดใหม่รวม 5 คน แล้วมีมติเห็นควรให้นายทะเบียนพรรคการเมืองส่งสำนวนการสืบสวนสอบสวนกรณีของพรรคไทยรักไทยไปให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาดำเนินการตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ตามรายงานของคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่มีนายนาม เป็นประธาน โดยไม่กล้าถือเอาประโยชน์จากรายงานการสอบสวนเพิ่มเติมของคณะผู้สอบสวนชุดใหม่แต่อย่างใด เห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกเชื่อตามรายงานผลการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2549 ตั้งแต่แรกแล้วว่า พลเอกธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์ได้สมคบกับผู้บริหารระดับสูงของพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยสนับสนุนให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลทะเบียนสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยเพื่อให้ผู้สมัครที่ไม่มีคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้งได้ และได้ให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยลงสมัครแต่เพียงพรรคเดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนและควรวินิจฉัยชี้ขาดโดยพลันให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่พลเอกธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์กับดำเนินการเพื่อให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการเพื่อยุบพรรคไทยรักไทย เหมือนดังที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กลับวินิจฉัยสั่งการให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพรรคไทยรักไทยเรื่อยมาจนพ้นเดือนเมษายน 2549 ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ของศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ว่า หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2549 จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก ได้ประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 386 คน จากจำนวนทั้งหมด 400 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 99 คน จากจำนวนทั้งหมด 100 คน เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกเร่งรีบประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ครบจำนวนย่อมทำให้พรรคไทยรักไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาล และพันตำรวจโททักษิณกลับคืนสู่อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกัน ข้อเท็จจริงปรากฏต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกตั้งแต่แรกแล้วว่า พลเอกธรรมรักษ์รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและนายพงษ์ศักดิ์รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อันแสดงให้เห็นได้ว่าคนทั้งสองเป็นกรรมการบริหารของพรรคไทยรักไทยที่มีบทบาทสูงจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ คนทั้งสองได้กระทำการอันฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 และกระทำผิดต่อกฎหมายอาญาในเรื่องของการสนับสนุนให้มีการปลอมแปลงเอกสารราชการด้วย แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกกลับมิได้วินิจฉัยสั่งการให้ดำเนินคดีแก่คนทั้งสองโดยพลัน ทั้งนี้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกทราบดีอยู่แล้วว่าการดำเนินคดีแก่พลเอกธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์ย่อมส่งผลกระทบต่อพรรคไทยรักไทยอย่างรุนแรง เพราะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ทั้งขัดต่อกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองย่อมมีหน้าที่แจ้งต่ออัยการสูงสุดให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทยได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ตามมาตรา 67 ประกอบมาตรา 66 (1) และ (3) การประชุมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เมื่อพิจารณารายงานการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่มีนายนาม เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 และลงมติในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคไทยรักไทยว่าให้คณะอนุกรรมการฯ สอบสวนพยานเพิ่มเติมจึงมิได้เป็นการวินิจฉัยสั่งการโดยพลัน เป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณแก่พรรคไทยรักไทย และจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก มิได้กระทำการตามหน้าที่โดยสุจริต ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24, 42 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นั้น ชอบแล้ว มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยรับราชการในตำแหน่งสำคัญ และทำคุณความดี ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติมากมายขณะดำรงตำแหน่งหรือในระยะต่อมาจนได้รับการสรรหาและคัดเลือกให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับการเชื่อถือว่าเป็นผู้มีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ด้วยผลงาน ชื่อเสียง และเกียรติคุณที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สร้างสมไว้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องได้ศึกษาและทราบดีว่าการเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่อันสำคัญ ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องดำรงความซื่อสัตย์สุจริตและความเป็นกลางทางการเมืองให้มั่นคงที่สุด แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับกระทำการในลักษณะตรงกันข้าม วินิจฉัยสั่งการโดยมิชอบด้วยหน้าที่เป็นคุณแก่พรรคไทยรักไทยอันเป็นพรรครัฐบาล อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและคุณธรรม เท่ากับว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมละทิ้งคุณความดี คุณประโยชน์ของตนเองที่เคยมีมาก่อนจนหมดสิ้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ควรยกคุณความดี คุณประโยชน์ที่เคยทำมากล่าวอ้างเพื่อประโยชน์แก่ตนได้อีก แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ละคนจะมีอายุประมาณ 70 ปี แล้วและมีสุขภาพไม่ดี ก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 12/2558)